ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552




“ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน” อาหารชุมชน

“ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน” อาหารชุมชน
“มูลมังอีสาน”พึ่งตนแบบพอเพียง

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร ดำเนินงาน “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเอง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง “การส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
นางสาวชลิตา ศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของโครงการฯ เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็น “มูลมัง” หรือมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป ชาวนาไม่สามารถที่จะสืบต่อวิธีการรักษาเมล็ดพันธุ์ของชุมชนดั้งเดิมที่มีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้เครื่องนวดข้าวก็ทำให้คุณภาพของข้าวที่จะเป็นต้นพันธุ์ลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย
“ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซื้อพันธุ์ข้าว 2-3 ปีต่อหนึ่งครั้งทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยการผลิต ซึ่งแต่เดิมชาวนาจะมีข้าวกินแต่ละครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยวิถีของการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นการปลูกและกินข้าวพันธุ์เดียวต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ มีชาวนาป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งก็มาจากการกินข้าวเพียงพันธุ์เดียว ประกอบกับพืชอาหารท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลง การซื้อหาจากข้างนอกก็ไม่ปลอดภัยเพราะเต็มไปด้วยสารเคมี และยังเป็นการเพิ่มค่าครองชีพ แต่ถ้าชาวนาสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์เอง คัดเลือกเอง ปลูกและกินข้าวของตัวเอง ก็จะทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้” นางสาวชลิตาระบุ
นายไพบูลย์ ภาระวงศ์ หรือ “พ่อบูลย์” อายุ 54 ปี เกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำนาไปเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เล่าว่า ปัจจุบันปลูกข้าวพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีและที่อื่นๆรวม 10 สายพันธุ์ได้แก่ มะลิแดง, มะลิดำ, หอมเสงี่ยม, สันป่าตอง, หอมพม่า, ข้าวเหนียวแดง, แสนสบาย, ยืนกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวอุบล และนางนวล ซึ่งข้าวพื้นบ้านจะให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์ กข. ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยา เพราะทนทานต่อโรค และขยายพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเองโดยไม่ต้องซื้อโดยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัตถุดิบต่างๆ ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ
นายสี ทอนไสระ หรือ “พ่อสี” อายุ 58 ปี แกนนำเกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน กล่าวว่าทุกวันนี้หันกลับมาทำการเกษตรย้อนยุคเหมือนอย่างที่ปู่ย่าตายาได้ทำมาในอดีต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ผลผลิตก็มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในที่นา 6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านถึง 20 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าเข้าพันธุ์พื้นบ้านหลายๆ สายพันธุ์มีเมล็ดข้าวขนาดใหญ่กว่า น้ำหนักก็มากกว่าเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง และที่เหลือจะใช้เพื่อคัดเลือกและขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
“ข้าวนาปีก็จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ เก็บเอาไว้กินเอง ส่วนนาปรังก็จะปลูกข้าวพันธุ์อายุสั้นเพื่อขาย ซึ่งข้าวที่ได้จะนำมารวมกันก่อนนำไปสีหรือเพื่อให้เกิดการคละสายพันธุ์ข้าวและคงคุณค่าทางอาหารของข้าวไว้ให้ได้มากสุด ทำให้สุขภาพของเราเองก็ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง ทุกวันนี้เรากินข้าวที่มีแต่แป้ง แต่ไม่ได้กินวิตามินหรือสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ของข้าว ข้าวพันธุ์พื้นบ้านอย่างหอมมะลิแดง ข้าวหอมสามกอ ข้าวมันเป็ด หรือข้าวเหนียวอุบล มีน้ำตาลต่ำวิตามินสูง ช่วยป้องกันโรคเบาหวานและรักษาโรคความดันได้” พ่อสีเล่าถึงข้อดีของข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูก
“จากการทดลองพบว่า ข้าวหอมเสงี่ยม และข้าวอีดำด่าง เป็นข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนี้มากที่สุด สามารถปลูกแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย แต่ก็ได้ข้าวเยอะถึง 360 เมล็ดต่อ 1 ต้น และมีน้ำหนักดี ที่สำคัญยังทนต่อโรคและภัยธรรมชาติ ทุกวันนี้ข้าวพื้นบ้านที่ปลูกมีคนมาสั่งซื้อชนิดที่เรียกว่ามีไหร่เอาหมด” พ่อสีกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ.

“เดอะคิง”โคมหัศจรรย์ถ่ายสายเลือดได้ลูกหลายสี

“เดอะคิง”โคมหัศจรรย์ถ่ายสายเลือดได้ลูกหลายสี

ความผกผันของเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อในปัจจุบันหันมานิยมฮินดูบรามันห์ เนื่องจากโครงสร้างร่างใหญ่ สง่างาม มีกล้ามเนื้อมากกว่าโคชนิดอื่นๆ และนอกจากที่จะเลี้ยงกันเพื่อจำหน่ายซากหรือเนื้อของมันเพื่อบริโภคเป็นอาหารแล้ว ยังมีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมเลี้ยงโคฮินดูบราซิลเพื่อความสวยงาม เป้าหมายเป็นงานอดิเรก เพื่อนำกิจกรรมเข้าสู่สังคมสันทนาการ เนื่องจากปัจจุบันมีเพื่อนสมาชิกเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง มีสมาคมฯหลากหลาย และจัดกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้ง
เดอะคิง SR 609 โคพ่อพันธุ์ของวัยวราวุธ & บุษราคัมฟาร์ม นครสวรรค์ จึงเป็นโคที่เด่นระดับแชมป์ของวงการ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยง ฮินดูบราซิลแห่งยุคปัจจุบัน หรือนักเลี้ยงนิยมน้ำเชื้อเพื่อนำไปผสมสืบทายาท
ทั้งนี้เพราะว่า เดอะคิงฯมีลักษณะเด่น อาทิ ใบหูกำเป็นบ้องเสียม หยิกนอกหยักใน และเป็นลอนช้อนก้อยเข้าหาวงคาเป็นวงสวิงใบหน้า กระบาลหรือหัวกะโหลกเป็นโหนก สันดั้งคมและโค้งรับกับกระบาลในลักษณะกลมกลืน ฐานเขาโครงกะโหลกใหญ่แข็งแรง ทางเขาชี้ไปในทางเดียวกัน หน้าหนาและหนังดำ
โครงสร้างของตัว ร่างใหญ่บึกบึนน่าเกรงขาม กระทู้ขาหน้าและขาหลังตั้งตรงและตั้งชัน ลำตัวยาวสมส่วน คล้ายกล่องสี่เหลี่ยม หางโคนใหญ่ปลายเรียว ปลายหางกำเป็นพู่กัน และที่น่าอัศจรรย์ แม้ว่าจะเป็นโคพ่อพันธุ์สีขาว แต่ก็ให้ลูกออกมาหลากสี และก็ให้ลูกดีแข็งแรงทุกตัว
นายสมชาย มานะกิจศิริสุทธิ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลหนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มวัยวราวุธฯ เล่าถึงความเป็นมาของ เดอะคิงฯ ว่า เป็นลูกโคฮินดูบรามันห์ที่นำเข้ามาเลี้ยงในเมืองไทยเป็นช่วงที่ 6 จึงมั่นใจว่าสายพันธุ์นิ่งเมื่อนำน้ำเชื้อไปผสมแล้วติดแน่นอน และให้ลูกที่แข็งแรงทุกโด๊ส
เดอะคิงฯ เป็นลูกของแม่หยกขาว โดยอาจารย์สุรัตน์ แนวโอโล ได้เอาแม่หยกขาว ขึ้นรถจากชัยภูมิ เพื่อผสมจริงกับคิงโพธิ์ดำ ของลุงสถิต คุมเขต ที่ อ.ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์(ตอนนั้นป้าตุ้มภรรยาลุงสถิตจะไม่ยอม เนื่องจากน้ำเชื้อแพงและขายดีมาก แต่คิงโพธิ์ดำฟิตจัด ไม่ฟังหน้าอินทร์หน้าพรหมขึ้นทับทันที จึงปล่อยเลยตามเลย)
คิงโพธิ์ดำสายพ่อ เป็นลูกของบลูบราซิล กับมะนาว โดยบลูบราซิลเป็นลูกของฉลุย (พ่อ)กับเคลิด้า(ดาริน)ทั้งคู่มีเชื้อสายฮินดูบราซิล
ส่วนแม่หยกขาว สายแม่ เป็นลูกของคอบร้ากับแม่บัวขาว(แม่บัวขาว เป็นแม่โคของลุงสนั่น อยู่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง นครราชสีมา เมื่อปี 2544 กำนันเขียวหรือ สจ.วิศาล พรหมนเรส นำเชื้อคอบร้าจากบริษัทแอนแทรคให้ลุงสนั่น ผสมเทียมกับแม่บัวขาวออกลูกมาเป็นหยกขาว)
ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์รวมยีนพ่อโคแม่โคเด่นสะสมอยู่ในตัวเดอะคิงฯถึง 9 ตัว การถ่ายทอดพันธุกรรมน้ำเชื้อจึงแข็งแรงมาก สามารถเติมเต็มให้กับแม่โคได้ทุกตัว ให้ลูกเหนือแม่ไม่ว่าจะเป็นลูกผสมหรือเลือดร้อย(เปอร์เซ็นต์)
แม่โคของลุงสำเริง ปั้นทอง แม่วัวสีขาวเรสปิโต้ สายเจ้าเพชร(โคขาว)มณีล้อมเพชร ของหันคาสัตวแพทย์ จังหวัดชัยนาท พานทองแท้ของคุณอนุชา มโนเย็น ฟาร์มชฎาทิพย์ แก่งคอย ผสมน้ำเชื้อของเดอะคิง ลูกคลอดออกมาก็ได้สีแดงโบ๊ททั้งหมด
ส่วนของลุงบุญชอบ สุขสมพืช และของกำนันเขียว จังหวัดอยุธยา เป็นแม่โคขาว ได้ลูกออกมาเป็นสีขาว ให้ชื่อว่าเก้ายอด ปัจจุบันนายวัลลภ ปรีชานำไปเลี้ยงอยู่ที่อำเภอเสนา
สนใจข้อมูลของเดอะคิง SR 609 เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ นายสมชาย เลขที่ 48/44 หมู่ 6 ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ... ได้ทุกวัน.

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อู่ทอง 9.. อ้อยพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง

เปิดตัว “อู่ทอง 9”... อ้อยพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง

“อ้อย” เป็นพืชอุตสาหกรรมสำคัญชนิดหนึ่งของไทย โดยเฉพาะการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลซึ่งสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาผลผลิตอ้อยของเกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ย 11-12 ตัน/ไร่ เนื่องจากมีการใช้พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์ค่อนข้างนาน ประมาณ 6-10 ปี ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ทั้งยังยังขาดแคลนพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น และขาดการจัดการไร่อ้อยที่ดี ตลอดจนมีปัญหาสภาพดินและน้ำที่อ้อยได้รับในแต่ละแหล่งปลูกแตกต่างกันด้วย
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูกทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการใช้อ้อยพันธุ์ดีช่วยเพิ่มประสิทธิการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยมีพันธุ์อ้อยที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมของเกษตรกรหลายพันธุ์ อาทิ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 3 และอู่ทอง 5 เป็นต้น ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมปีละประมาณ 200,000-300,000 ไร่ และปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์อ้อยประสบความสำเร็จอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ พันธุ์ “อู่ทอง 9” อนาคตคาดว่า จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการนำพันธุ์ไปปลูก เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว
อ้อยพันธุ์อู่ทอง 9 นี้ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่ 94-2-128 กับพันธุ์พ่อ 94-2-270 โดยนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ได้เริ่มปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ตามหลักวิชาการมาตั้งแต่ปี 2542 มีอ้อยพันธุ์ K84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ช่วงปี 2547-2549 ได้มีการปลูกทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี, อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี, อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.ขาณุวรลักษณ์ จ.กำแพงเพชร พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในอ้อยพันธุ์อู่ทอง 9 เนื่องจากให้ผลผลิตต่อไร่และผลผลิตน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอ้อยพันธุ์ใหม่ที่โรงงานน้ำตาลมีความต้องการสูง
ด้านนายอุดม เลียบวัน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี หัวหน้าทีมนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยอู่ทอง 9 กล่าวว่า อ้อยพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่ให้ผลผลิตน้ำหนักสูง เฉลี่ย 17.50 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ K84-200 ที่ให้ผลผลิต 11.19 ตัน/ และยังสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 14.25 ตัน/ไร่ นอกจากนั้นอ้อยอู่ทอง 9 ยังให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ยถึง 2.45 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 ที่ให้ผลผลิตน้ำตาล 1.56 ตันซีซีเอส/ไร่ และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ที่ให้ผลผลิตน้ำตาล 2.04 ตันซีซีเอส/ไร่ ที่สำคัญอ้อยอู่ทอง 9 ยังสามารถต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ด้วย
เมื่อโตเต็มที่อ้อยอู่ทอง 9 มีความสูงเฉลี่ย 226 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำ 2.76 เซนติเมตร ได้จำนวนลำเฉลี่ย 11,762 ลำ/ไร่ จำนวนปล้องเฉลี่ย 21 ปล้อง/ลำ มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 11-12 เดือน และมีความหวาน 14 ซีซีเอส ขณะที่พันธุ์ K84-200 มีจำนวนลำเฉลี่ย 8,663 ลำ/ไร่ และพันธุ์อู่ทอง 3 มีจำนวนลำเฉลี่ย 9,034 ลำ/ไร่
ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ประกาศให้พันธุ์อ้อยอู่ทอง 9 (U-Thong 9) เป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรแล้ว สำหรับพื้นที่แนะนำที่มีความเหมาะสมจะปลูกอ้อยอู่ทอง 9 นั้น ควรเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน อาทิ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และกำแพงเพชร เป็นต้น อีกทั้งยังมีข้อควรระวัง คือ เกษตรกรควรลอกกาบอ้อยออกก่อนปลูก เพราะอ้อยพันธุ์นี้มีกาบแน่น ยอดอ้อยจะงอกผ่านกาบใบยาก ซึ่งถ้าไม่ลอกกาบก่อนปลูกจะทำให้งอกช้า
ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีได้เร่งขยายพันธุ์อ้อยอู่ทอง 9 เพื่อเพิ่มปริมาณท่อนพันธุ์เตรียมพร้อมรองรับความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ซึ่งในล็อตแรกนี้คาดว่าจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 22,000 ลำ หรือประมาณ 110,000 ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตท่อนพันธุ์อ้อยอู่ทอง 9 ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และกำแพงเพชร ประมาณ 40-50 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดังกล่าวได้ทันตามความต้องการของเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสนใจข้อมูลเกี่ยวกับอ้อยพันธุ์ “อู่ทอง 9” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-3555-1433 ....
////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“หนอนหัวดำ”.. ศัตรูพืชมะพร้าวชนิดใหม่

“หนอนหัวดำ”.. ศัตรูพืชมะพร้าวชนิดใหม่

ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของ “แมลงดำหนาม” ในแหล่งปลูกมะพร้าวของไทยกำลังเบาบางลง ชาวสวนมะพร้าวกลับต้องผจญและต่อสู้กับศัตรูพืชชนิดใหม่ คือ “หนอนหัวดำ” ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายรุนแรงมากกว่าแมลงดำหนาม ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำเข้าทำลายจะยืนต้นแห้งตาย นับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องควบคุมและกำจัดอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้าง... และลุกลามไปสู่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทั้งกล้วย หมาก และปาล์มประดับ เป็นต้น
นางอัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หนอนหัวดำมะพร้าวหรือ Coconut Black-headed caterpillar มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Opisina arenosella Walker เดิมเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของมะพร้าวในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และยังมีรายงานพบหนอนชนิดนี้ในอินโดนีเซีย พม่า บังคลาเทศ และปากีสถานด้วย โดยตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน มีลักษณะลำตัวแบน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาวประมาณ 1-1.2 ซ.ม. ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าวหรือในที่ร่ม
ผีเสื้อเพศเมียจะเริ่มวางไข่ 3 วันหลังออกจากดักแด้ และวางไข่ทุกวันติดต่อกันไป 4-6 วัน โดยสามารถวางไข่ได้ตัวละ 157-490 ฟอง มีระยะไข่ 5-6 วัน ระยะหนอน 32-48 วัน มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง ระยะดักแด้ 9-11 วัน แล้วเข้าสู่ตัวเต็มวัยผีเสื้อมีอายุ 5-11 วัน
สำหรับการเข้าทำลายต้นมะพร้าวนั้น เมื่อตัวหนอนหัวดำฟักออกจากไข่ใหม่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว ปกติมักพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน จากนั้นตัวหนอนจะสร้างใยผสมกับมูลทำเป็นอุโมงค์ยาวคล้ายทางเดินของปลวกคลุมเส้นทางที่หนอนแทะกินผิวใบยาวตามทางใบมะพร้าว และอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้น การทำลายส่วนใหญ่พบบนใบแก่ โดยใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลายอย่างหนักจะยืนต้นแห้งตาย แล้วหนอนหัวดำจะเคลื่อนย้ายไปทำลายมะพร้าวต้นใหม่ต่อไป
ปัจจุบันหนอนหัวดำมะพร้าวได้แพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกมะพร้าวของไทยกระจายในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ สวนมะพร้าวของเกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีกว่า 20 ไร่ สวนมะพร้าวศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จำนวนกว่า 100 ไร่ และพบการระบาดในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ขณะเดียวกันยังพบหนอนหัวดำระบาดทำลายต้นตาลในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ไม่น้อยกว่า 6,000 ต้น ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และเริ่มพบต้นตาลในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเพชรบุรีถูกหนอนหัวดำทำลายแล้วด้วย
นอกจากหนอนหัวดำจะระบาดทำลายมะพร้าวและต้นตาลแล้ว ยังมีพืชอาหารอีกหลายชนิด อาทิ หมาก กล้วย และปาล์มประดับ ได้แก่ ตาลฟ้า อินทะผลัม ปาล์มแวกซ์ หมากนวล หมากเขียว หมากแดง และจั่ง เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรจึงควรติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะชาวสวนกล้วยทั้งกล้วยหอมทอง และกล้วยไข่ที่ผลิตเพื่อการส่งออกควรต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และที่น่าเป็นห่วงก็ คือ ตาลในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจถูกทำลายได้
วีธีการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เบื้องต้นเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวต้องหมั่นสังเกตต้นมะพร้าวในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบหนอนหัวดำต้องตัดเก็บและเผาใบที่ถูกทำลายทิ้ง กรณีที่พบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงไพรีทรอยส์โดยใช้ความเข้มข้นตามคำแนะนำในฉลาก แต่ผู้ฉีดพ่นต้องสวมใส่ชุดป้องกันอันตรายจากสารเคมีเนื่องจากเป็นสารเคมีฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวโดยชีววิธีซึ่งมีศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น แตนเบียนไข่ แตนบียนหนอน และแตนเบียนดักแด้ รวมทั้งเชื้อราด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “หนอนหัวดำมะพร้าว” สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักชาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-7580 ทุกวันในเวลาราชการ.

พัฒนาการ “อบแห้งพริก”

พัฒนาการ “อบแห้งพริก”
เพื่อควบคุมคุณภาพให้คงที่

พริกเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก และเป็นพืชเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา โบลิเวีย รวมทั้งประเทศไทย นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการปรุงรสอาหารเพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติในอาหารแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าพริกมีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคและมีสรรพคุณเป็นอาหารเสริมสุขภาพด้วย เช่น ช่วยบรรเทาอาการหวัด ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดปริมาณคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากพริกสดยังมีข้อจำกัด เช่น เกิดการเน่าเสีย คุณภาพของพริกไม่สม่ำเสมอ หรือมีปริมาณที่มากเกินความต้องการ จึงทำให้ผู้บริโภคหันไปนิยมใช้พริกแห้งมากขึ้น ซึ่งการทำพริกแห้งที่นิยมกันโดยทั่วไป คือ การตากแดดกลางแจ้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศด้วย คุณภาพของพริกแห้งจึงไม่มีความสม่ำเสมอ รวมทั้งเกิดการปนเปื้อนจากแมลง หนู นก และจุลินทรีย์ ส่งผลให้คุณภาพของพริกแห้งไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ GMP ที่เพียงพอสำหรับส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่รับซื้อผลิตภัณฑ์พริกแห้ง เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์พริกชนิดต่างๆ ดังนั้นการใช้เครื่องอบแห้งตู้อบลมร้อนจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตพริกแห้ง
ดร.วิริยา พรมกอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการศึกษาแบบจำลองการทำนายความชื้นของพริกพันธุ์หัวเรือย่นขณะอบแห้ง เปิดเผยว่า กลไกการอบแห้งของพริกถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากระบวนการผลิตพริกแห้งให้มีความเหมาะสม และตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ในการศึกษานี้ ดร.วิริยาได้ใช้พริกสดพันธุ์หัวเรือย่นที่ได้จากเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งศึกษาลักษณะทางโครงสร้างของพริกแห้งที่ผ่านการแช่สารเคมีและทำการอบแห้งที่สภาวะต่างๆ แล้วศึกษาค่าทางกายภาพของพริกสดและพริกขณะการอบแห้ง และศึกษาการเปลี่ยนแปลงค่าความร้อนทางกายภาพ ค่าสัมประสิทธิ์การแพร่ของน้ำในพริกขณะอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อนเปรียบเทียบกับพริกที่ทำแห้งด้วยวิธีผึ่งแดด รวมทั้งเปรียบเทียบกับพริกที่ผ่านการลวกและไม่ผ่านการลวก ก่อนการหาสมการที่เหมาะสมในการทำนายการเปลี่ยนแปลงความชื้นของพริกขณะการอบแห้งโดยใช้ตู้อบลมร้อน
จากการศึกษาพบว่าการทำแห้งด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ร่วมกับการใช้สารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ สามารถคงสีของพริกแห้งไว้ได้มากที่สุด ส่วนการใช้สารละลายผสมระหว่างโซเดียมเมตาไลซัลไฟท์และแคลเซียมคลอไรด์ สามารถรักษาสีของพริกไว้มากที่สุดที่อุณหภูมิการทำแห้งแบบ 2 ระยะ คือที่ 70 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมง และ 50 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังพบว่าการแช่พริกในสารละลายก่อนการทำแห้งจะทำให้มีการดึงน้ำออกจากพริกได้ดีกว่าไม่ใช้สารละลาย และพบว่าใช้เวลาในการทำแห้งลดลง
สำหรับเวลาที่ใช้ในการทำแห้ง พบว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับค่าสัมประสิทธิ์การแพร่ของน้ำที่สูงที่สุด โดยจะพบในพริกที่ผ่านการแช่สารละลายผสมระหว่างโซเดียมเมตาไบซัลไฟท์กับแคลเซียมคลอไรด์ ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่พบว่าโครงสร้างของพริกมีรูพรุนมากที่สุด
ดร.วิริยา กล่าวว่า การใช้สมการทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงความชื้นของพริกนี้ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายระยะเวลาในการทำแห้ง และนำไปควบคุมสภาวะการอบแห้งพริกที่เหมาะสมได้ โดยพิจารณาควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทั้งทางกายภาพและเคมีของพริก เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการอบแห้งพริกต่อไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 045-353500 ต่อ 2203.

“หนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ย” ...

“หนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ย” ...
ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร


การสร้างเครือข่ายรายสินค้าระหว่างสหกรณ์ ชุมชนและผู้บริโภค จะเกิดกำไรขึ้นได้นั้น สมาชิกต้องรู้ว่าต้นทุนการผลิตมีจำนวนเท่าไร และแนวทางการรับรู้ดังกล่าวได้นั้นก็คือ การนำกลไกการบัญชีโดยเฉพาะในด้านระบบไอทีเข้ามาใช้มีส่วนร่วม
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า นอกจากจะช่วยให้ระบบการทำงานเกิดความรวดเร็ว ยังสามารถตรวจสอบทุน กำไร และยังใช้เป็นเครื่องมือเตือนภัยทางการเงินให้กับสหกรณ์ได้ต่อเนื่องทุกเวลา ซึ่งที่ผ่านมานั้นกรมตรวจบัญชีได้นำระบบดังกล่าวลงไปใช้ในสหกรณ์เฉลี่ยประมาณ 1,500 แห่ง จากจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3,700 แห่ง และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี จะสามารถนำระบบดังกล่าวเข้าไปใช้ในสหกรณ์ได้ครบทุกแห่ง
สหกรณ์นางรอง จำกัด เป็นอีกหนึ่งในหลายๆสหกรณ์ที่เป็นต้นแบบ ที่หลังจากนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า 5 ธุรกิจหลักของสหกรณ์ภาคการเกษตร ทั้งการรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ จัดหาสินค้ามาจำหน่ายรวบรวมผลิตผล/แปรรูป และธุรกิจให้บริการ ณ ปัจจุบันสถานะเป็นอย่างไร ควรต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง ลด และเพิ่มด้านใดบ้าง นอกจากสมาชิกสามารถลดต้นทุนได้กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างการผลิตปุ๋ยฯ ซึ่งเป็นธุรกิจล่าสุดของสหกรณ์แห่งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้ได้ผลกำไรสูง ต้องพัฒนาและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆกัน
นายศิริไพบูลย์ นุศิริหาญ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรนางรอง จำกัด เล่าว่า วันนี้ธุรกิจของสหกรณ์มี น้ำมัน สินเชื่อ การแปรรูป การซื้อมาขายไป และธุรกิจภาคการเกษตรในด้านการจัดหาวัสดุ ที่แต่เดิมจะเป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ ซึ่งการเจรจากว่าจะตกลงกันนั้น ต้องใช้เวลาค่อนข้างนา บางครั้งมีการตรวจสอบถึงสถานะทางการเงิน แต่เมื่อนำระบบไอทีเข้ามาใช้ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น การตรวจทานหนี้ทำได้เร็ว อีกทั้งสมาชิกสามารถตรวจสอบสถานการณ์สหกรณ์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ผิดแผกกับแต่ก่อนที่การตรวจทานหนี้ ทุน กำไร จะทำกันเพียงปีละครั้ง เพราะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์และสหกรณ์ด้วยกันเองได้ในระหว่างดำเนินการหากธุรกิจด้านใดเกิดการเสี่ยงระบบไอทียังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือชี้วัดและส่งสัญญาณเตือนว่า ควรต้องเร่งปรับปรุงส่วนไหนอย่างไร อย่างเช่นการซื้อปุ๋ยของสหกรณ์นางรองฯ ที่เดิมจะเจรจากับบริษัท พ่อค้า เพื่อจัดหาปุ๋ยให้สมาชิกใช้ในนาข้าว กระทั่งทางกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีนโยบายให้มีหนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ยขึ้น สหกรณ์นางรองฯ จึงหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตรารุ้งตะวันผสมกรดซิลิคอนขึ้น เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียง
สำหรับปุ๋ยฯ กรดซิลิคอนสามารถละลายน้ำได้ดี พืชสามารถนำไปใช้พร้อมกับน้ำและธาตุอาหารชนิดต่างๆได้เร็ว ซึ่งการผลิตปุ๋ยดังกล่าวจะใช้วัตถุดิบ ได้แก่ มูลโค ซึ่งทำสัญญากับสหกรณ์หนองโพฯในการรับซื้อในราคา กก.ละ 1 บาท ซิลิคอนผง ซิลิคอนน้ำ แกลบดำ ที่ได้จากการนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรับอบลดความชื้นปุ๋ย แร่บะซอลต์จากพื้นที่ของจังหวัด จากนั้นการผลิตจะผ่านกระบวนการต่างๆกระทั่งออกมาเป็นปุ๋ยที่บรรจุที่ถุงมีน้ำหนักรวม50 กก. โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 5-6 ตันต่อวัน
หากอยากทราบถึงเคล็ดลับความสำเร็จของการดำเนินงานของสหกรณ์ หรือ เรื่องการผลิตปุ๋ย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 044631186.

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552



“ทองกวาว” สีสันแห่งป่าเบญจพรรณ



“ทองกวาว” สีสันแห่งป่าเบญจพรรณ

หากไปชนบททางภาคเหนือ หรือภาคอีสานในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ก็จะเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ออกดอกที่มีสีสดทั้งต้น คือออกเป็นสีส้มออกไปทางสีแดง หรือ บางต้นหรือบางถิ่นต้นไม้ชนิดเดียวกันนี้ก็จะออกดอกเป็นสีเหลือง ต้นที่มีสีเหลืองพบที่เชียงราย อุบลราชธานี สุรินทร์ ไม้ชนิดนี้ชาว อีสานเรียก จาน ชาวเหนือเรียกว่า ก๋าว ซึ่งมันก็มาจาก ทองกวาว นั่นเอง และชาวสุรินทร์ก็นิยมเลี้ยงครั่งบนต้นทองกวาวนี่เอง
ทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 12-18 เมตร เปลือกต้นเป็นปุ่มปม กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา การแตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ดอกใหญ่รูปดอกถั่วสีเหลืองถึงแดงแสด ออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและที่ปลายกิ่ง ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกทองหลาง มีความยาว 6-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยเกาะเป็นกลุ่ม เวลาบานมี 5 กลีบ จะออกดอกดกที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ผลมีลักษณะเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน แบน โค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปลูกนั้นนิยมปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพราะทองกวาวเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร
ทองกวาวต้องการแสงแดดจัด ควรปลูกกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2:3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-5 ครั้ง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร
ประโยชน์มีกล่าวไว้ว่า เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือก ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น แต่จะลดจำนวนอสุจิ ยาง แก้ท้องร่วง ใบตำพอกฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด ท้องขึ้น ริดสีดวง เข้ายาบำรุงกำลัง ดอก ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ ดอกสีเหลืองให้สีเหลือง ดอกสีแสดให้สีแสด ใช้ย้อมผ้า เมล็ด ใช้ขับพยาธิตัวกลม บดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาวทาแก้คันและแสบร้อน ฝัก ต้มเอาน้ำเป็นยาขับพยาธิ บดผสมมะนาวทาบริเวณผื่นคัน ราก ต้มรักษาโรคประสาท บำรุงธาตุ
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก เพราะทองกวาวเป็นไม้มงคลนาม คือสามารถมีทองได้ตามธรรมชาติหรือมีทองมากนั่นเอง นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ฉะนั้น ทางคนจึงเรียกว่า ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ก็ว่ากันไป ...หากแต่บางคนไม่นิยมปลูกไว้บริเวณบ้าน เนื่องด้วยบางท้องถิ่นนิยมเรียกกันสั้นๆเฉพาะคำข้างหน้าเท่านั้น จากดอกทองกวาว จึงเป็นแค่ ดอกทอง...ไม่มีคำว่า กวาวต่อท้าย ความหมายจึงเปลี่ยนไป อันนี้ก็แล้วแต่คนจะคิดกันไป ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ...
ตามความเชื่อ เขาบอกว่า ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้จะเป็นมงคลยิ่ง ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อ ว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ และเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
ธงชัย เปาอินทร์ ระบุไว้ว่า กรณีทองกวาวสีเหลือง ถ้าเพาะกล้าจากเมล็ด จะได้ดอกสีแสดไม่เหมือนต้นแม่ ถ้าใช้การปั่นหรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะได้ต้นกล้าทองกวาวดอกเหลืองเหมือนต้นแม่
หมายเหตุ ข้อมูลจาก หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ ของ ธงชัย เปาอินทร์ , วีกิพีเดีย และ www.dnp.go.th/

จีร์ ศรชัย

เร่งศึกษาระบบประกันภัยพืชผลนำร่องใน ‘ข้าว’

เร่งศึกษาระบบประกันภัยพืชผลนำร่องใน ‘ข้าว’...หวังป้องกันความเสี่ยงด้านการผลิตให้เกษตรกร

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันก่อให้เกิดความเสียหายทางการเกษตรอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติทั้งอุทกภัยและภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากภัยดังกล่าวและไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่สูญเสียไป ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติ สำหรับการผลิตข้าว โดยศึกษาอัตราเบี้ยประกัน วงเงินคุ้มครอง รูปแบบหรือเกณฑ์การประเมินความเสียหาย และการบริหารจัดการการรับประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้ศึกษาการรับประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าวนาปีแบบเสมือนจริง คือ มีการดำเนินการเหมือนการรับประกันภัยจริงทุกประการ แต่ยังไม่มีการเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากเกษตรกรและไม่มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยนำสถิติการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งตั้งแต่ปี 2547-2551 ของแต่ละจังหวัดที่ศึกษามาคำนวณหาโอกาสเกิดภัย เพื่อนำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และกำหนดวงเงินคุ้มครองในระดับต้นทุนการผลิต โดยการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรให้เป็นไปตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าวในช่วงที่ข้าวได้รับความเสียหาย สำหรับการประเมินความเสียหายนั้นจะประเมินโดยให้คณะกรรมการประเมินความเสียหายในระดับท้องถิ่นลงสำรวจแปลง และตรวจสอบว่าเกษตรกรรายนั้นจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร
สำหรับการประกันภัยทางการเกษตรในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ซึ่งรับประกันภัยพืชเกือบทุกชนิด และคุ้มครองภัยธรรมชาติทุกภัย ยกเว้นญี่ปุ่นจะคุ้มครองทั้งโรคพืช แมลง และสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ ด้วย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะนิยมใช้ดัชนีผลผลิตของเขตพื้นที่ หรือประกันรายได้ ในการประเมินความเสียหาย ส่วนประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยนิยมใช้ดัชนีภูมิอากาศในการประเมินความเสียหาย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในการบริหารจัดการประกันภัยทางการเกษตรทุกประเทศจะมีกฎหมายรับรองและกำหนดแนวทางการประกันภัย ส่วนใหญ่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้วางนโยบายประกันภัยพืชผล ออกพระราชบัญญัติประกันภัยพืชผล จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่รับประกันภัยโดยเฉพาะและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดการตัวแทนประกันภัย ดูแลจัดการโครงการที่ได้รับจากสถาบันการเงิน ดูแลเงินค่าชดเชยในแต่ละพืช แต่ละพื้นที่ และจ่ายเงินค่าชดเชย เป็นต้น
อนึ่ง เพื่อให้การประกันภัยทางการเกษตรสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ทั้งสนับสนุนเต็มจำนวนหรือเป็นบางส่วนประมาณ 20-50% ของค่าเบี้ยประกัน เพื่อ จูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยและไม่เป็นภาระในการเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความสนใจเรื่องการประกันภัยทางการเกษตร เนื่องจากยังไม่เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการประกันภัยทางการเกษตร ดังนั้น จึงควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการประกันภัยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ซึ่งการประกันภัยนั้นไม่ได้หมายถึงการป้องกันไม่ให้เกิดภัย แต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนลงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตร
************************************
อัจฉรา : ข่าว
ธันวาคม 2552
E-mail : agritech71@doae.go.th

เพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วงช่วงฤดูหนาว

ข่าวคำแนะนำที่ 6/2553
แนะวิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วงช่วงฤดูหนาว

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวและเป็นฤดูกาลของมะม่วงเริ่มออกช่อดอก ทำให้มักมีเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วง โดยเพลี้ยจักจั่นมะม่วงเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวสีเทาแกมดำ ด้านหัวโต ส่วนลำตัวจนถึงปลายปีกเรียวแหลม มีไข่ 100-200 ฟอง การเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและช่อดอก แล้วขับถ่ายเป็นน้ำหวานจับบนใบหรือช่อดอก มีลักษณะเหนียวเยิ้ม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นโรคราดำที่ช่อดอก สำหรับในต้นที่มีเพลี้ยจักจั่นอยู่มากจะได้ยินเสียงเพลี้ยจักจั่นมะม่วงกระโดดดังกรอกแกรก ขณะเดินเข้าไปใกล้ทรงพุ่มมะม่วง การทำลายมักจะทำให้ช่อดอกและผลร่วงได้ ส่งผลให้มะม่วงติดผลน้อยหรืออาจไม่ติดผลเลยก็ได้
กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะวิธีป้องกันกำจัด โดยให้เกษตรกรใช้น้ำฉีดชะล้างช่อดอกและใบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดำจากเชื้อราได้ การฉีดน้ำแรงพอจะทำให้ตัวอ่อนของเพลี้ยกระเด็นออกมาจากช่อดอก แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงในขณะที่ติดผลอ่อน เพราะอาจทำให้ผลร่วงได้ นอกจากนี้ ให้ใช้กับดักไฟฟ้าเพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นที่ควรอนุรักษ์ไว้ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน Epipyropid แมลงวันตาโต Pipunculid สำหรับตัวห้ำ ได้แก่ มวนตาโต หรือใช้เชื้อราเมตาไรเซียม หรือเชื้อราขาวบิวเวอเรีย หากพบมากสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ คาร์บาริล เอนโดซัลแฟน โมโนโครโตฟอส และเบนโนมิล เป็นต้น
************************************
อัจฉรา : ข่าว
ธันวาคม 2552
E-mail : agritech71@doae.go.th

เตือนภัยเพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลังช่วงหน้าแล้ง

เตือนภัยเพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลังช่วงหน้าแล้ง

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึง สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2552 ว่า จากการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 21 จังหวัด พบพื้นที่การระบาดรวม 307,213 ไร่ ซึ่งพื้นที่การระบาดโดยรวมของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,791 ไร่ โดยพบจังหวัดที่มีการระบาดใหม่ 1 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พื้นที่ระบาดรวม 600 ไร่ ส่วนจังหวัดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นมี 2 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี พื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้น 1,211 ไร่ รวมพื้นที่ระบาด 2,379 ไร่ ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดยังคงเดิมใน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง กาญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี ชลบุรี อุตรดิตถ์ ราชบุรี ชัยนาท และฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่ระบาด 304,234 ไร่
สาเหตุของการระบาดในช่วงนี้เกิดจากสภาพอากาศแห้งและไม่มีฝน ทำให้เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเริ่มเจริญเติบโตจากระยะไข่เข้าสู่ระยะตัวอ่อน และทำลายต้นมันสำปะหลังโดยดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ทำให้ยอดหงิกงุ้ม ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ออกให้คำแนะในการป้องกันกำจัดแก่เกษตรกรในพื้นที่แล้ว โดยการป้องกันเกษตรกรจะต้องเรียนรู้วงจรชีวิตและพฤติกรรมของเพลี้ยแป้ง ส่วนการจัดการท่อนพันธุ์จะต้องคัดกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และชุบก่อนปลูกด้วยสารเคมีก่อนปลูก ได้แก่ Thiamethoxam (ชื่อการค้า แอคทารา) อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 25 ลิตร แช่ประมาณ 5-10 นาที และห้ามเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์จากแหล่งระบาดไปสู่แหล่งที่ยังไม่มีแมลงระบาด จะเป็นการกระจายเพลี้ยแป้งไปสู่แหล่งปลูกอื่น ๆ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการฉีดสารเคมี เพื่อป้องกันแมลงศัตรูของเพลี้ยแป้งที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ส่วนการควบคุมเกษตรกรต้องเร่งตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ โดยหมั่นสำรวจเพื่อกำหนดจุดเริ่มระบาดของเพลี้ยแป้ง เมื่อพบจุดเริ่มแพร่ระบาดให้หักยอด และทำลายกิ่งที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย แล้วปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียน หรือตัวห้ำ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส รวมทั้งต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
หากมีข้อสงสัยขอคำปรึกษาปัญหาการระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์บริหารศัตรูพืชที่อยู่ใกล้บ้านหรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.02-5795178, 02-5790280
************************************
อัจฉรา : ข่าว
ธันวาคม 2552, E-mail : agritech71@doae.go.th

พะเยาเตรียมคลอดแผนพัฒนาจังหวัดด้านเกษตรปี 54

ข่าวที่ 149 / 2552
วันที่ 14 ธันวาคม 2552

สศก. จับมือพะเยาเตรียมคลอดแผนพัฒนาจังหวัดด้านเกษตรปี 54

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับ จังหวัดพะเยา เดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดพะเยาด้านการเกษตรในมิติบูรณาการระดับพื้นที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดสรรงบประมาณประจำปี 54 ตามที่มติครม. อนุมัติ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องในจังหวัดพะเยา และ สกลนคร หวังสร้างงานและรายได้ให้แก่เกษตรกร
นางสุภาพร พิมลลิขิต รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าพบร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (นายเชิดศักดิ์ ชูศรี) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดพะเยาด้านการเกษตรในมิติบูรณาการระดับพื้นที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2554 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ที่ได้อนุมัติปฏิทินงบประมาณ ประจำปี 2554
การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตรนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้กำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการนำร่องใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา และสกลนคร เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแผนบริหารราชการแผ่นดินที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐไปสู่ประชาชน โดยมีความชัดเจนในพื้นที่เป้าหมาย และกลุ่มประชาชนที่ได้รับประโยชน์ โดยการดำเนินงานจะเป็นการพิจารณาร่วมกันกับหลายส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ รวมถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่จะมีการเชื่อมโยงในการจัดสรรงบประมาณของส่วนราชการที่เป็นงบฟังค์ชั่น และงบท้องถิ่น เพื่อให้แผนพัฒนาบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดพะเยาด้านการเกษตรที่คาดหมายจะเสนอดำเนินการในปี 2554 ประกอบด้วย โครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพมาตรฐานในระดับส่งออกในพื้นที่ทุ่งรวงทอง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ในพื้นที่ 50,000 ไร่ โครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกร 5,000 ราย โครงการส่งเสริมการผลิตถั่วเขียว ถั่วลิสง และถั่วเหลืองหลังการทำนาในพื้นที่ 10,000 ไร่ และยังมีอีกหลายโครงการที่จะนำเสนอ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยที่ผลผลิตที่ได้จากโครงการที่ได้พิจารณาร่วมกันนี้จะเป็นผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการ และเมื่อเกษตรกรผลิตได้แล้วจะมีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อผลผลิตอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบปะกับเกษตรกรในอำเภอภูซาง และอำเภอจุน จังหวัดพะเยา เพื่อสอบถามประเด็นปัญหา และแนวทางการพัฒนา ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเห็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนต่อไป

*************************************************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม”

เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม”
เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม” นำร่อง 10 จังหวัด สร้างโอกาสเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น พร้อมขยายฐานแหล่งผลิตสินค้าพืชผักผลไม้คุณภาพป้อนตลาดโลก ขณะที่ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันร้องขอแปลง GAP ด้วย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้เร่งพัฒนาแหล่งผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยตามนโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหารหรือฟู้ดเซฟตี้(Food Safety) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจรับรองแหล่งปลูกพืชตามระบบปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) โดยมีแปลงที่ผ่านการตรวจและได้รับการรับรองเครื่องหมายสัญลักษณ์ Q แล้วจำนวนทั้งสิ้น 211,784 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1,354,212.97 ไร่ จากที่จดทะเบียนไว้ จำนวน 341,532 แปลง พื้นที่ปลูก 2,529,891.14 ไร่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายฐานแหล่งผลิตพืชที่มีคุณภาพและปลอดภัยของไทย ให้เป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น และพร้อมรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) และกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการรับรองฟาร์มมาตรฐานระบบกลุ่ม(Group Certifications)ขึ้น โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา สงขลา พัทลุง ขอนแก่น นครราชสีมา ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา และชุมพร มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก กล้วยไข่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ข่า กล้วยไม้ และกาแฟ เข้าร่วมโครงการฯในเบื้องต้นรวม 12 กลุ่ม เกษตรกรไม่น้อยกว่า 360 ราย
“เดิมกระทรวงเกษตรฯได้ตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP เป็นรายฟาร์ม ทำให้การรับรองแหล่งผลิตสินค้าพืชทำได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองแปลงมีจำนวนจำกัดขณะที่ต้องเร่งตรวจต่ออายุใบรับรองแปลง GAP เดิม และต้องตรวจรับรองแปลงใหม่ด้วย การจัดทำระบบตรวจรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม จะสามารถช่วยขยายผลและเพิ่มจำนวนแปลงปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาระภาครัฐในการตรวจรับรองแปลงอีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
นายวัชรินทร์ อุปนิสากร หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งพัฒนาศักภยาพเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองแปลงแบบกลุ่ม เป้าหมายไม่น้อยกว่า 200 ราย พร้อมส่งเสริมให้มีการสร้างหน่วยตรวจรับรอง(CB)ของเอกชนด้านการตรวจรับรองฟาร์ม GAP เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโครงการฟาร์มมาตรฐานระบบกลุ่มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
“ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนกว่า 2,000 แปลง มีความสนใจและต้องการที่จะนำแปลงปลูกเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเริ่มให้ความสำคัญกับผลผลิตที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานมากขึ้น สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฯจึงได้เร่งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ GAP ปาล์มน้ำมัน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาประกาศใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและผู้ตรวจประเมินแปลง GAP ปาล์มน้ำมันด้วย” นายวัชรินทร์ กล่าว

ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว

คณะเกษตรฯ มข. บูรณาการงานวิจัย ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว เพิ่มผลผลิตไร่ละ 50 ถึง 80 ก.ก.

ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายงานว่า น้ำส้มควันไม้ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบได้ เหตุนี้ คณะผู้วิจัย จึงได้นำมาทดลองใช้กับข้าว ประมาณ 4 ถึง 5 ปีมาแล้ว โดยที่ น้ำส้มควันไม้มีกรดอินทรีย์ถึง 200 ชนิด บางชนิดก็เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการงอกของเมล็ด
ตลอดจนกระตุ้นการแตกกอของข้าวด้วย ดังนั้น ก่อนการหว่านข้าวกล้าทั้งข้าวนาดำและข้าวนาหว่าน ใช้วิธีแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในสารละลายน้ำส้มควันไม้ เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 2 วัน หลังจากข้าวเติบโตตั้งตัวแล้ว ใช้น้ำส้มควันไม้ ที่เจอจาง300 เท่าเช่นกัน ฉีดพ่นทางใบ ทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่ง 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว ในพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ก็เนื่องจาก ข้าวมีการแตกกอมากขึ้น เมล็ดต่อรวงมากขึ้น น้ำหนักเมล็ดก็เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการศึกษาการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะการใช้เป็นสารแช่เมล็ด ใช้เป็นปุ๋ยทางใบในพืชหลายชนิดและใช้ในการควบคุมเชื้อราในดิน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัย ประเภทเงินทุนอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยผลจากการศึกษาต่อเนื่องในข้าวเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
สามารถยืนยันผลได้ว่าการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะสารแช่เมล็ดจะทำให้ต้นกล้าข้าวตั้งตัวและพัฒนาได้ดี และการใช้ในลักษณะปุ๋ยทางใบก็สามารถเพิ่มผลผลิตของข้าวได้โดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น จึงได้มีการขยายผลการวิจัยในการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำนา
โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง เพราะน้ำส้มควันไม้สามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย ทำให้ได้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร. ดรุณี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้มีความยั่งยืนในการปฏิบัติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการใช้น้ำส้มควันไม้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น คณะเกษตร มข.จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น
จัดโครงการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการใช้น้ำส้มควันไม้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รุ่นที่ 1 บ้านท่าพระทราย ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยคาดหวังว่าหากเกษตรกรมีการทำเตาเผาขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง จะให้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“น้ำส้มควันไม้มีคุณสมบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี ทำให้ผู้ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีด้วย การฝึกอบรมในครั้งนี้ยังเป็นการฝึกให้รู้จักการทำเตาเผาส่วนรวมที่ใช้ภายในหมู่บ้าน ที่สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ ที่จะใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ทำให้ได้ถ่านจากการเผาไว้ใช้ ซึ่งเป็นพลังงานชีวมวล
ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนในเรื่องของพลังงาน”ผศ.ดร. ดรุณี กล่าว
สำหรับ น้ำส้มควันไม้ เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้สดผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และรวมตัวเป็นของเหลว น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆมากกว่า 200 ชนิด สารประกอบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ 85 % กรดอินทรีย์ประมาณ 3 % และสารอินทรีย์อื่นๆอีกประมาณ 12 %
ซึ่งกรดอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำส้มควันไม้มีหลายชนิด ที่สำคัญ คือ กรดอะซิติก (acetic acid), กรดฟอร์มิค(กรดมด), ฟอร์มาลดิไฮด์ (formaldehyde), เอธิล เอ็น วาเลอเรต (ethyl-n-valerate), เมทธานอล (methanol), น้ำมันทาร์ (tar) อะซีโตน(acetone) และฟีนอล(phenol) ฯลฯ สารประกอบที่สำคัญในน้ำส้มควันไม้ (Wood Vinegar) มีรายละเอียดดังนี้ 1.กรดอะซิตริก(กรดน้ำส้ม) เป็นสารกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
และเชื้อไวรัส 2.สารประกอบฟีนอล เป็นสารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสารฆ่าแมลงใช้ล้างแผล ทำยาจำพวกแอสไพริน และทำวัตถุหลอมเหลว 3.ฟอร์มัลดีไฮด เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และแมลงศัตรูพืช 4.เอธิล เอ็น วาเลอเรด เป็นสารในกลุ่มเร่งการเจริญเติบโตของพืช 5.เมธานอล แอลกอฮอล์ที่ดื่มกินไม่ได้ (หากเข้าตาจะทำให้ตาบอด)
เร่งการงอกของเมล็ดและราก ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้และเป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคมีเรีย และเชื้อไวรัส 6.อะซีโตน สารละลายวัตถุ ใช้ทำน้ำยาทาเล็บและเป็นสารเสพติด 7.น้ำมันทาร์ เป็นสารจับใบช่วยลดการใช้สารเคมี

ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร สาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.043-342949 ต่อ 14 โทรสาร 043-364636

ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว

คณะเกษตรฯ มข. บูรณาการงานวิจัย ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว เพิ่มผลผลิตไร่ละ 50 ถึง 80 ก.ก.

ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายงานว่า น้ำส้มควันไม้ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบได้ เหตุนี้ คณะผู้วิจัย จึงได้นำมาทดลองใช้กับข้าว ประมาณ 4 ถึง 5 ปีมาแล้ว โดยที่ น้ำส้มควันไม้มีกรดอินทรีย์ถึง 200 ชนิด บางชนิดก็เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการงอกของเมล็ด
ตลอดจนกระตุ้นการแตกกอของข้าวด้วย ดังนั้น ก่อนการหว่านข้าวกล้าทั้งข้าวนาดำและข้าวนาหว่าน ใช้วิธีแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในสารละลายน้ำส้มควันไม้ เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 2 วัน หลังจากข้าวเติบโตตั้งตัวแล้ว ใช้น้ำส้มควันไม้ ที่เจอจาง300 เท่าเช่นกัน ฉีดพ่นทางใบ ทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่ง 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว ในพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ก็เนื่องจาก ข้าวมีการแตกกอมากขึ้น เมล็ดต่อรวงมากขึ้น น้ำหนักเมล็ดก็เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการศึกษาการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะการใช้เป็นสารแช่เมล็ด ใช้เป็นปุ๋ยทางใบในพืชหลายชนิดและใช้ในการควบคุมเชื้อราในดิน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัย ประเภทเงินทุนอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยผลจากการศึกษาต่อเนื่องในข้าวเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
สามารถยืนยันผลได้ว่าการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะสารแช่เมล็ดจะทำให้ต้นกล้าข้าวตั้งตัวและพัฒนาได้ดี และการใช้ในลักษณะปุ๋ยทางใบก็สามารถเพิ่มผลผลิตของข้าวได้โดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น จึงได้มีการขยายผลการวิจัยในการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำนา
โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง เพราะน้ำส้มควันไม้สามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย ทำให้ได้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร. ดรุณี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้มีความยั่งยืนในการปฏิบัติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการใช้น้ำส้มควันไม้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น คณะเกษตร มข.จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น
จัดโครงการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการใช้น้ำส้มควันไม้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รุ่นที่ 1 บ้านท่าพระทราย ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยคาดหวังว่าหากเกษตรกรมีการทำเตาเผาขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง จะให้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“น้ำส้มควันไม้มีคุณสมบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี ทำให้ผู้ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีด้วย การฝึกอบรมในครั้งนี้ยังเป็นการฝึกให้รู้จักการทำเตาเผาส่วนรวมที่ใช้ภายในหมู่บ้าน ที่สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ ที่จะใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ทำให้ได้ถ่านจากการเผาไว้ใช้ ซึ่งเป็นพลังงานชีวมวล
ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนในเรื่องของพลังงาน”ผศ.ดร. ดรุณี กล่าว
สำหรับ น้ำส้มควันไม้ เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้สดผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และรวมตัวเป็นของเหลว น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆมากกว่า 200 ชนิด สารประกอบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ 85 % กรดอินทรีย์ประมาณ 3 % และสารอินทรีย์อื่นๆอีกประมาณ 12 %
ซึ่งกรดอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำส้มควันไม้มีหลายชนิด ที่สำคัญ คือ กรดอะซิติก (acetic acid), กรดฟอร์มิค(กรดมด), ฟอร์มาลดิไฮด์ (formaldehyde), เอธิล เอ็น วาเลอเรต (ethyl-n-valerate), เมทธานอล (methanol), น้ำมันทาร์ (tar) อะซีโตน(acetone) และฟีนอล(phenol) ฯลฯ สารประกอบที่สำคัญในน้ำส้มควันไม้ (Wood Vinegar) มีรายละเอียดดังนี้ 1.กรดอะซิตริก(กรดน้ำส้ม) เป็นสารกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
และเชื้อไวรัส 2.สารประกอบฟีนอล เป็นสารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสารฆ่าแมลงใช้ล้างแผล ทำยาจำพวกแอสไพริน และทำวัตถุหลอมเหลว 3.ฟอร์มัลดีไฮด เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และแมลงศัตรูพืช 4.เอธิล เอ็น วาเลอเรด เป็นสารในกลุ่มเร่งการเจริญเติบโตของพืช 5.เมธานอล แอลกอฮอล์ที่ดื่มกินไม่ได้ (หากเข้าตาจะทำให้ตาบอด)
เร่งการงอกของเมล็ดและราก ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้และเป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคมีเรีย และเชื้อไวรัส 6.อะซีโตน สารละลายวัตถุ ใช้ทำน้ำยาทาเล็บและเป็นสารเสพติด 7.น้ำมันทาร์ เป็นสารจับใบช่วยลดการใช้สารเคมี

ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร สาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.043-342949 ต่อ 14 โทรสาร 043-364636

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แปลงเรียนรู้ “ปาล์มน้ำมัน” ต้นแบบ

...หนึ่งโรงเรียนเพื่อเกษตรกรมืออาชีพ



“ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่มีศักยภาพสูง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตประมาณ 3,195,140 ไร่ ในปี 2552 นี้ คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 9.43 ล้านตัน แต่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมเกี่ยวกับการผลิตปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายใหม่ ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำขณะที่มีต้นทุนสูงขึ้น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้ง “แปลงเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมฯได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด(มหาชน) บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด(มหาชน) บริษัทเปา-รงค์ จำกัด บริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด โกลเด้นเทเนอร่า และบริษัท ปาล์มโมริช จำกัด จัดทำแปลงเรียนรู้ปาล์มน้ำมันขึ้นภายในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ “โรงเรียนปาล์มน้ำมันเพื่อเกษตรกร” จังหวัดกระบี่ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นศูนย์รวมและเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการให้บริการองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้และภาคอื่นๆ ด้วย

สำหรับโรงเรียนปาล์มน้ำมันเพื่อเกษตรกรนี้ มีการจัดกิจกรรม 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกร การศึกษาทดสอบ/วิจัยภาคการผลิตของเกษตรกร การจัดนิทรรศการวิชาการปาล์มน้ำมัน และการจัดทำแปลงเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน โดยปี 2551 ที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตปาล์มน้ำมันแก่เกษตรกรรายใหม่ จำนวน 171 ราย ขณะเดียวกันยังได้ฝึกอบรมหลักสูตรการใช้ปุ๋ยในสวนปาล์มน้ำมันให้เกษตรกร 505 รายด้วย และปี 2552 นี้ ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืน” ให้แก่เกษตรกรและยุวเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกระบี่ไปแล้ว 8 รุ่น รวมกว่า 1,155 ราย ซึ่งในระยะยาวคาดว่าเกษตรกรจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการผลิตในแปลงของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมขยายผลไปสู่เกษตรกรข้างเคียงด้วย

การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมแก่เกษตรกร เน้นตั้งแต่การเลือกใช้ปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง 3-5 ตัน/ไร่/ปี และมีความเหมาะสมกับแหล่งปลูก อีกทั้งยังมุ่งเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิธีการปลูกปาล์มน้ำมัน การดูแลรักษา การบริหารจัดการแปลง ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเป็นแนวทางช่วยในการปรับลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นมาก ราว 50-60 % หากประหยัดค่าปุ๋ยเคมีได้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

“แปลงเรียนรู้ปาล์มน้ำมันเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างโอกาสให้เกษตรกรที่มีความสนใจที่จะพัฒนาระบบการผลิตปาล์มน้ำมันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อนาคตคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันของจังหวัดกระบี่ได้ค่อนข้างมาก โดยจะช่วยเสริมฐานการผลิตปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และก้าวสู่การเป็นฐานผลิตไบโอดีเซลของประเทศเพื่อเป็น Oil Palm City ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นางสาวฐิติมา เจียมสวัสดิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) กล่าวเพิ่มเติมว่า การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ เนื่องจากการผลิตทะลายปาล์มน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ที่เก็บเกี่ยวออกไป มีปริมาณธาตุอาหารเทียบได้กับปุ๋ยสูตร 21-0-0 ประมาณ 17 กิโลกรัม สูตร 0-46-0 ประมาณ 3 กิโลกรัม สูตร 0-0-60 ประมาณ 12 กิโลกรัม และคีเซอร์ไรท์ ประมาณ 15 กิโลกรัม เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อทดแทนในปริมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของพืช จึงจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน

เทคนิคการใส่ปุ๋ยต้องเป็นไปตามความต้องการของต้นพืช โดยทุกรอบการผลิตเกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินในแปลงปลูกและใบปาล์มน้ำมันส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อจะได้เลือกใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของต้นปาล์ม ซึ่งจะช่วยปรับลดความสิ้นเปลืองค่าปุ๋ยเคมีลงได้

นอกจากนี้ยังแนะนำให้เกษตรกรใช้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การอนุรักษ์ดินในสวนปาล์มน้ำมันด้วยการปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว การตัดขั้นบันไดและคันดักน้ำร่วมกับพืชคลุมดิน การควบคุมหนอนกินใบโดยวิธีธรรมชาติ การควบคุมหนูในสวนปาล์มน้ำมันด้วยนกแสก ทั้งยังแนะนำให้ใช้ประโยชน์ของเสียจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เช่น ใช้ทะลายเปล่าวางเป็นวงแหวนทับกันสามชั้นรอบโคนต้นปาล์มพอประมาณ อัตรา 250 กิโลกรัม/ต้น หรือ 3-4 รถเข็น จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมได้ทั้งหมด และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ครึ่งหนึ่ง ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยเคมีได้ไม่น้อยกว่า 700 บาท/ไร่ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 0.5-1 ตัน/ไร่/ปี

อย่างไรก็ตาม หากสนใจที่จะเข้าศึกษาเรียนรู้ในแปลงเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) โทร. 0-7561-2913…..

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552


สมองอักเสบจากค้างคาวแม่ไก่

นักวิชาการจุฬาฯ เตือนสมองอักเสบ
ติดเชื้อไวรัสนิปาห์จากค้างคาวแม่ไก่

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มเห็นชัดขึ้นทุกขณะ ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน พายุฝนและไต้ฝุ่นที่รุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินไหว และโรคติดต่อที่ทวีความรุนแรง ซึ่งต้นตอของโรคอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าจะก่อปัญหาให้กับชาวโลกในอนาคต โดยไม่ต่ำกว่าครึ่งทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยตรงหรือสัตว์เป็นตัวเก็บกักโรคหรือเพาะโรค โดยมียุง แมลง เห็บ ริ้น ไร เป็นพาหะ ดังเช่นโรคชิกุนคุนยาที่แพร่ระบาดทางภาคใต้ของไทยเมื่อไม่นานมานี้
ค้างคาวเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม หลังมีการสำรวจและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับกับโรคใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี นักวิชาการประจำศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาโรคสมองอักเสบอุบัติใหม่ที่เกิดจากไวรัสนิปาห์ในค้างคาวไทย” จากการสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้แถลงในงานเสวนาทางวิชาการ “โลกร้อน โรคร้าย โรคติดต่อที่ต้องติดตาม” ว่ากลไกการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์จากค้างคาวอาจเกิดในฤดูกาลเช่นเดียวกับฤดูกาลระบาดในคน
ไวรัสนิปาห์ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดต่อของเชื้อไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคที่ประเทศบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 70 ทั้งนี้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนิปาห์จะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบ โดยอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ร่วมด้วย
ส่วนอาการป่วยในสุกรหลังหย่านมเเละสุกรขุนจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับอาการทางระบบหายใจ คือ หายใจเร็ว หอบกระเเทก ไอเสียงดัง ”one-mile” cough ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสุกรขุน ในรายที่รุนเเรงพบว่ามีมูกปนเลือดออกทางโพรงจมูก ในรายที่ไม่รุนเเรงจะพบสุกรการหายใจทางปาก และมีอาการทางประสาทร่วมด้วยตัวสั่น หัวตก กัดคอก เคี้ยวฟัน กล้ามเนื้อกระตุก ขาหลังไม่มีเเรง โดยในพ่อแม่พันธุ์พบว่ามีการตายอย่างกระทันหัน หรือมีไข้สูงชนิดเฉียบพลันร่วมกับหายใจหอบกระเเทก มีน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำมูกปนเลือด มีอาการทางประสาท ยืนโงนเงน หัวพิงคอก ชักกระตุก ปากเเข็ง คอเเข็ง ในเเม่พันธุ์มักพบมีการเเท้งร่วมด้วยอัตราการติดเชื้ออาจสูงถึง 80% แต่อัตราการตายต่ำ (<1 - 5%)
จากการศึกษาความสัมพันธ์ของการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์ในค้างคาวแม่ไก่กับฤดูกาลของ ดร.สุภาภรณ์และคณะ โดยเก็บตัวอย่างเยี่ยวค้างคาวในพื้นที่ศึกษา รวม 7 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แล้วนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีทางอณูชีววิทยา พบเชื้อไวรัสนิปาห์ในทุกพื้นที่ศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน และพบมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม โดยเชื้อที่พบมี 2 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในมาเลเซียและบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฤดูผสมพันธุ์ ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลผสมพันธุ์ที่พบลูกค้างคาวหัดบิน
นับเป็นการค้นพบกลไกการแพร่เชื้อไวรัสในค้างคาวครั้งแรกของโลกที่ยืนยันว่าเชื้อไวรัสนิปาห์แพร่กระจายจากเยี่ยวค้างคาวเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไวรัสนิปาห์ได้เช่นกัน หากคนสัมผัสกับเยี่ยวหรือน้ำลายค้างคาวโดยตรง หรือสุกรได้รับเชื้อจากสิ่งคัดหลั่งของค้างคาวและแพร่มาสู่คน อย่างไรก็ตามข้อมูลการค้นพบฤดูกาลแพร่เชื้อจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ ดร.ไสว วังหงษา นักวิชาการจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าค้างคาวแม่ไก่ในที่ราบภาคกลางมีประมาณ 40,000 ตัว ในพื้นที่ 16 แห่ง รวมทั้งเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ส่วนพื้นที่ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ รวมทั้งแหล่งอุตสาหกรรมและพื้นที่เลี้ยงสุกรในเขตจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา เนื่องจากปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบเชื้อไวรัสนิปาห์ในหมู่คนไทยรวมทั้งในสุกร จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เป็นประจำทุกปี แต่เมื่อมีการค้นพบเชื้อดังกล่าวในค้างคาว ย่อมเป็นสัญญาณเตือนให้คนไทยควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดที่รักษาได้ผลโดยตรง โดยพบว่ามีเพียงการใช้ยาต้านไวรัสไรบาวิริน (Ribavirin) รักษาในช่วงต้นของการติดเชื้อเท่านั้น
ทั้งนี้หากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากค้างคาว ได้แก่ เยี่ยว น้ำลาย เลือด หรืออวัยวะภายใน รวมทั้งถูกค้างคาวกัดหรือข่วนจะต้องรีบล้างส่วนที่สัมผัสด้วยน้ำสบู่นาน 10-15 นาที หากมีแผลในบริเวณที่สัมผัสหรือถูกค้างคาวกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ 10-15 นาที แล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เช่นเดียวกับเมื่อถูกสุนัขกัด เพราะค้างคาวอาจนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้
“ประชาชนไม่ควรบริโภคหรือชำแหละค้างคาว ไม่รับประทานผลไม้ที่มีรอยกัดแทะของค้างคาว และควรทัศนศึกษาดูค้างคาวด้วยความระมัดระวังและดูในฤดูกาลที่ถูกต้อง โดยงดชมในช่วงเช้าเนื่องจากค้างคาวจะถ่ายมาก ฤดูกาลที่ควรระมัดวังมากที่สุดคือ เมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังสุกรในพื้นที่เสี่ยงที่มีแหล่งอาศัยของค้างคาว และสวนผลไม้ที่ค้างคาวไปกินเป็นอาหารในฤดูกาลแพร่เชื้อมาก” ดร.สุภาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

พัฒนาการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์

กระทรวงเกษตรฯ จับมือพาณิชย์ พัฒนาการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ เตรียมของบแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง นำร่อง 2 โครงการสินค้าเกษตรดาวรุ่ง ข้าวหอมมะลิ ผัก และพืชสมุนไพรอินทรีย์ ชี้เป้ากำหนดพื้นที่ปลูกและขยายการช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาการผลิต การตลาดเกษตรอินทรีย์ ว่า ที่ประชุมมีมติจะเสนอขอใช้งบประมาณจากโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง เพื่อดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จำนวน 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการบูรณาการการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อการส่งออก พื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด คือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3 พืชหลัก ได้แก่ ข้าว ผัก และพืชสมุนไพรอินทรีย์ พื้นที่เป้าหมาย อาทิ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และลำพูน เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการดังกล่าวยังขาดงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งจะได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมีนายสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2553-2554 ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลในเชิงรูปธรรม และกำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการที่ชัดเจน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดดังกล่าวนี้ไปพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2551-2554 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยให้คณะทำงานชุดนี้ไปพิจารณาดูว่ามีแผนงานใดบ้างของปีงบประมาณ 2551 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้บรรจุรวมไว้ในการจัดทำคำของบประมาณที่จะดำเนินการในปี 2554 หลังจากนั้นจะให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ฯใหม่ เพื่อให้แผนงานสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีต่อไป
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอโครงการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในปี 2554 จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 55 ล้านบาท ทั้งนี้ เชื่อว่าภายใต้การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของคณะทำงานตามมติที่ประชุมในครั้งนี้น่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ได้ โดยจะมีการจัดทำ Organics Mapping เพื่อการตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลของทั้งพื้นที่และรายชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถการประเมินผลความคืบหน้าของแผนงานได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้

ไม่เผาฟางข้าว







เจจีซีแนะเปลี่ยน “มลพิษ” ให้เป็น “เงิน”
เลิกเผา“ฟางข้าว” สร้าง “พลังงานทดแทน

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)
.......................................................................................................................................................
นักศึกษา JGSEE แนะเลิกเผาฟางข้าว เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน เสนอใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตความร้อนในโรงงานดีที่สุด ชี้คุ้มทุนหากผู้ประกอบการส่งรถซื้อฟางข้าวจากนาโดยตรง ระบุได้ประโยชน์สองต่อสร้างรายได้เกษตรกร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถจะยื่นขอคาร์บอนเครดิตและขายกับประเทศที่มีพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การตกลงในพิธีสารเกียวโต และเชื่อฟางข้าวจะเป็นชีวมวลทางเลือกใหม่ ใช้เสริมแกลบและกากอ้อยในภาวะขาดตลาด
.......................................................................................................................................................
ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรในการทำนา คือการจัดการกับฟางข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งแม้ปัจจุบันฟางข้าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชนได้หลากหลาย เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่ด้วยภาวะเร่งรัดในการทำนาครั้งต่อไป การเผาฟางจึงกลายเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด แม้ว่าเกษตรเองจะไม่อยากเผาฟางก็ตาม หากแต่ว่าผลกระทบที่ตามมานั้นไม่เพียงความร้อนที่เกิดจากการเผาจะทำลายธาตุอาหารในดิน และได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดีแล้ว การเผาฟางยังเป็นการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าพื้นที่ที่มีการเผาฟางข้าวมากที่สุดในประเทศไทยมีถึง 13 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น
น.ส.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางหนึ่งในการจัดการฟางข้าวที่น่าสนใจ คือการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยการสนับสนุนของภาครัฐในการใช้ชีวมวลเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ฟางข้าว(rice straw) และฟางข้าวสาสี(wheat straw)เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำในการผลิตความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำบ้างแล้ว เช่น ประเทศเดนมาร์ก อังกฤษ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีความพยายามในการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานมากแต่ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากฟางข้าว เป็นชีวมวลที่มีค่าความร้อนต่ำ อีกทั้งยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว และมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมที่กำลังใช้กันอยู่ เช่น แกลบ เศษไม้ เปลือกปาล์ม ส่งผลให้ฟางข้าวกว่า 50 %ต้องถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นเพื่อหาเทคโนโลยีที่นำฟางข้าวไปใช้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์ที่ได้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุน อันจะช่วยหยุดสร้างมลพิษจากการเผาฟาง และได้แหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น จึงได้ศึกษานโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทย ด้วยการประเมินความเป็นไปได้ใน 4 ด้าน คือ 1. ศักยภาพของทรัพยากรที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง 2. ความเหมาะสมของประเภทและขนาดของเทคโนโลยีกับศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ 3.ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ของผู้ลงทุนและสังคมรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และ 4. สิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนวทางของนโยบายที่ภาครัฐควรจะสนับสนุน
“ผลจากการประเมินพบว่า ฟางข้าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ด้วยการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมในโรงงานจะมีศักยภาพมากว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า และเสนอให้รัฐสนับสนุนการใช้ฟางโดยการให้เงินสนับสนุนต่อปริมาณฟางที่ใช้ 300-340 บาทต่อกิโลกรัม(แทนที่จะสนับสนุนต่อหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฯ) เพื่อเปิดโอกาสให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆด้วย ซึ่งเงินสนับสนุนนี้คำนวณโดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องจ่ายหากเราหยุดเผาฟางได้
สำหรับการนำไปใช้ก็สามารถทำได้ทันที เพราะในภาคกลางยังมีโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน สำหรับหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นถ่านหินผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนมาใช้ฟางข้าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นน้ำมันเตาก็เปลี่ยนเพียงหัวเตาเท่านั้น ในส่วนการประเมินความคุ้มทุนนั้นพบว่า ฟางข้าวจะต้องมีราคาต่ำกว่า 860 บาทต่อตัน ซึ่งวิธีการลดต้นทุนที่ทำได้เลยในขณะนี้คือ ให้เกษตรเก็บฟางข้าวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมไว้ข้างนา โดยอัดให้แน่น(ประมาณ 18-20 กก.ต่อฟ่อน) ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว จากนั้นผู้ประกอบการส่งรถพ่วง 2 ตอน มารับซื้อจากนาโดยตรง และเตรียมความพร้อมของฟางก่อนป้อนเข้าเตาเผาด้วยการสับให้ชิ้นเล็กลง ส่วนในอนาคตเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรเก็บฟางข้าวให้อยู่ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ทันที่ทุ่งนา เพื่อให้บรรทุกได้ในปริมาณมากขึ้นในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนเที่ยวและประหยัดค่าการขนส่งแล้ว ยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ทันทีโดยไม่ต้องสับ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐในการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อไป ”
น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า การใช้ฟางเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากจะช่วยให้หยุด ”มลพิษทางอากาศ” ได้แล้ว ยังได้ “พลังงาน” และ “ลดโลกร้อน” ด้วย ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตรงนี้ จะนำไปขายกับประเทศที่มีพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การตกลงในพิธีสารเกียวโต โดยปัจจุบันในตลาดโลกมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) บ้างแล้วในหลายประเทศ โดยภาครัฐควรมีการสนับสนุนโครงการCDM เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วย
อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัจจุบันโรงสีข้าวและโรงน้ำตาลเริ่มนำแกลบและกากอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดย่อมของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ชีวมวลเหล่านี้เริ่มมีราคาแพงและขาดแคลนมากขึ้น ดังนั้นชีวมวลที่ไม่ได้ใช้ทั้ง ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย ลำต้นข้าวโพด ล้วนเป็นชีวมวลทางเลือกใหม่ ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาวะขาดแคลนพลังงานในอนาคต
//////////////////////////////////////////

คลังบทความของบล็อก