ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
















มันสำปะหลังระยอง 9

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9

ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของโลก มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีประมาณ 6 – 7 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง คือ ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ดินก็เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตผลิตต่อไร่ต่ำ
กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้นเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตแป้งสูงและมีศักยภาพสูงในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ มันเส้น แป้งมัน และเอทานอล จนประสบความสำเร็จได้ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 พันธุ์มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยให้ผลผลิตแป้ง 1.24 ตัน / ไร่ ผลผลิตมันแห้ง 2.11 ตัน / ไร่ และให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์และทุกอายุเก็บเกี่ยว โดยหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 191 ลิตร / หัวสด 1 ตัน เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนให้เอทานอลจำนวน 208 ลิตร / หัวสด 1 ตัน และหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 18 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 194 ลิตร / หัวสด 1 ตัน
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ผ่านการประเมินผลผลิตเอทานอลในระดับห้องปฏิบัติการและระดับโรงงานต้นแบบที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในปี 2544 – 2547 โดยผลการทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสดเป็นวัตถุดิบ พบมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าทุกพันธุ์ที่นำไปทดลองเปรียบเทียบ จึงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลและการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมัน
นอกจากนี้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ยังมีลักษณะทรงต้นดี สูงตรง ทำให้ได้ต้นสำหรับทำพันธุ์ยาว ขยายพันธุ์ได้มาก รวมทั้งยังเป็นโรคใบพุ่มน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พืชพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร

ข้อมูลประกอบการแถลงข่าวกรมวิชาการเกษตร
วันที่ 30 เมษายน 2552
เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 123
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1. สถานการณ์การระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

2. พืชพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร
- อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
- มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
- กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80
- ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80

2. สถานการณ์การระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

3. ผลการประกวดสัญลักษณ์ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร










อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย สามารถใช้ผลิตเป็นน้ำตาลสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามผลผลิตน้ำหนักอ้อย / ไร่โดยเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น ขาดการจัดการไร่อ้อยที่เหมาะสม ปัญหาสภาพดินและน้ำที่อ้อยได้รับในแต่ละแหล่งปลูกต่างกัน จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูก
ปี 2538 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์อ้อยโดยการผสมข้ามพันธุ์อ้อยระหว่างพันธุ์แม่ K 84-200 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 ได้อ้อยโคลน 95-2-156 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตน้ำหนักและน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 และ K-84-200 มีความหวานไม่ต่ำกว่า 12 ซีซีเอส และเหมาะสมสำหรับการปลูกในเขตชลประทาน
ปี 2544 – 2547 ได้นำอ้อยโคลน 95-2-156 ไปปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี
ลักษณะเด่นอ้อยโคลน 95-2-156 ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.23 ตัน / ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 และพันธุ์อู่ทอง 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.63 ตันซีซีเอส / ไร่ ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ยอ้อยปลูก 2.97 ตันซีซีเอส / ไร่
พื้นที่ปลูกแนะนำ ในเขตชลประทาน ดินร่วนและดินเหนียว จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้เสนอขอรับรองพันธุ์อ้อยโคลน 95-2-156 ต่อคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นพันธุ์รับรองในวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยใช้ชื่อ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8
ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้ขยายพันธุ์อ้อยโคลน 95-2-156 จำนวน 15 ไร่ ซึ่งสามารถนำไปปลูกได้ 150 ไร่ในปี 2552








ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3

ปัญหาสภาพฝนแล้งหรือการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูต้นฝน แม้กรมวิชาการเกษตรจะวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดจนได้ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 72 และพันธุ์นครสวรรค์ 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ทนทานต่อสภาพแล้ง แต่ข้าวโพดทั้ง 2 พันธุ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากมีขั้วฝักเหนียว และเก็บเกี่ยวด้วยมือค่อนข้างยาก
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง มีความทนทานแล้ง และสามารถเก็บเกี่ยวด้วยมือได้ง่าย เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้แก่เกษตรกร จนได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 452015 เป็นพันธุ์พ่อ เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวอายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 110 – 115 วัน ได้นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ และทดสอบพันธุ์ในไร่ของเกษตรกรจังหวัดต่างๆ ระหว่างปี 2547 – 2551
ลักษณะเด่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย1,106 กิโลกรัม / ไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 72 และนครสวรรค์ 2 รวมทั้งยังให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมการค้า มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 836 กิโลกรัม / ไร่ และสามารถเก็บเกี่ยวด้วยมือได้ง่าย
พื้นที่ปลูกแนะนำ สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดี
จากการสำรวจความพึงพอใจของเกษตรกรต่อศักยภาพของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 พบว่าเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 90 ให้การยอมรับและชอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในด้านลักษณะความแข็งแรงของต้นกล้า ความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง การเจริญเติบโต และการตรอบสนองต่อปุ๋ย ความทนแล้ง ความแข็งแรงของลำต้น ขนาดของฝัก สีของเมล็ด ขนาดของเมล็ด ผลผลิต และการเก็บเกี่ยวง่าย
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เสนอขอรับรองพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ต่อคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นพันธุ์รับรองในวันที่ 7 เมษายน 2552


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9

ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของโลก มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีประมาณ 6 – 7 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง คือ ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ดินก็เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตผลิตต่อไร่ต่ำ
กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้นเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตแป้งสูงและมีศักยภาพสูงในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ มันเส้น แป้งมัน และเอทานอล จนประสบความสำเร็จได้ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 พันธุ์มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยให้ผลผลิตแป้ง 1.24 ตัน / ไร่ ผลผลิตมันแห้ง 2.11 ตัน / ไร่ และให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์และทุกอายุเก็บเกี่ยว โดยหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 191 ลิตร / หัวสด 1 ตัน เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนให้เอทานอลจำนวน 208 ลิตร / หัวสด 1 ตัน และหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 18 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 194 ลิตร / หัวสด 1 ตัน
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ผ่านการประเมินผลผลิตเอทานอลในระดับห้องปฏิบัติการและระดับโรงงานต้นแบบที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในปี 2544 – 2547 โดยผลการทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสดเป็นวัตถุดิบ พบมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าทุกพันธุ์ที่นำไปทดลองเปรียบเทียบ จึงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลและการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมัน
นอกจากนี้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ยังมีลักษณะทรงต้นดี สูงตรง ทำให้ได้ต้นสำหรับทำพันธุ์ยาว ขยายพันธุ์ได้มาก รวมทั้งยังเป็นโรคใบพุ่มน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าให้มีความต้านทานต่อโรคราสนิม ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ H.W 26 / 5 กับพันธุ์ SL 28 โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟประเทศโปรตุเกส ได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี 2503 ซึ่งเมล็ดพันธุ์แต่ละชั่วของการคัดจะถูกส่งไปปลูกที่ประเทศแองโกลา บราซิล โปรตุเกส และไทย กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ผ่านการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2528 – 2544 รวมระยะเวลาในการวิจัย 17 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์ มีลำต้นตั้งตรง ทรงปิรามิด สีผิวผลแก่สีแดง จำนวนเมล็ดต่อน้ำหนัก 100 กรัม ผลผลิต 6.81 กิโลกรัม / ต้น มีคุณภาพสารกาแฟเกรด A 82 – 85 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาเฟอิน 0.42 เปอร์เซ็นต์ อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 173 – 184 วัน
ลักษณะเด่น มีความต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบเฉลี่ย 5 ปี จำนวน 215 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกโดยทั่วไป ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A 81.3 – 87.3 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิมอยู่ในระดับ 6.5 – 7.0 คะแนน (จาก 10 คะแนน)
ปัจจุบันศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ มีแปลงผลิตเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์และขยายพันธุ์รับรองจำนวน 600 ต้น ภายในพื้นที่ 1.5 ไร่สามารถผลิตต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1,200,000 ต้น สำหรับปลูกในพื้นที่จำนวน 3,000 ไร่ / ปี











ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80

ถั่วเขียวผิวดำเป็นพืชที่ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ผลผลิตรวมประมาณ 61,593 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 165 กิโลกรัม / ไร่ ผลผลิตร้อยละ 90 ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งบริโภคถั่วชนิดนี้ในรูปของถั่วงอก จึงต้องการถั่วเขียวผิวดำเกรด 1 เมล็ดมีสีดำ มีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ และไม่มีเชื้อราติดไปกับเมล็ด
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงถั่วเขียวผิวดำให้มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และเหมาะสำหรับเพาะถั่วงอก โดยเริ่มดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2532 – 2546 รวมระยะเวลาการวิจัย 15 ปีได้ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ซึ่งได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ปราจีนบุรี กับ พันธุ์ NBG 5
ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 250 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตถั่วเขียวผิวดำเฉลี่ยทั้งประเทศ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยให้น้ำหนักสดถั่วงอกสูงและรสชาติถั่วงอกหวานกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 มีความกรอบ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเพาะถั่วงอกโดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 ที่สำคัญ ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ยังเป็นพันธุ์ที่ไม่มีขนที่ใบและฝัก ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย เนื่องจากไม่ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นคันซึ่งเป็นลักษณะที่เกษตรกรต้องการ รวมทั้งยังเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูและเหมาะสำหรับปลูกในสภาพการผลิตพืชไร่ทั่วไป
ผลงานวิจัยนี้ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 85 กิโลกรัม / ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,700 – 2,125 บาท / ไร่ รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการเพาะถั่วงอกมีรายได้เพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 445 ล้านบาท และปริมาณถั่วงอกมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพที่มีการบริโภคถั่วงอกวันละ 200 ตัน
ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550







สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรียและบราซิล ในขณะที่เป็นประเทศที่ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุด การปลูกมันสำปะหลังในอดีตไม่พบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานและปรับตัวได้ดี แต่จากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันทำให้เริ่มประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช ซึ่งเดิมอาจจะพบอยู่แล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ
ต้นปี 2551 พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังจำนวน 2 ชนิด ชนิดแรก คือเพลี้ยแป้งลาย ซึ่งพบระบาดทั่วไปแต่ยังไม่เคยสร้างปัญหารุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ส่วนเพลี้ยแป้งอีกชนิดหนึ่งไม่เคยมีรายงานพบการระบาดในมันสำปะหลังมาก่อน แต่พบการทำลายเสียหายรุนแรงกว่าชนิดแรก
เดือนเมษายน 2551 เกษตรกรได้แจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลังที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังปัจจุบันพบการระบาดมีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา และกำแพงเพชร โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาพบมีพื้นที่การระบาดมากที่สุดประมาณ 300,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้รับการแจ้งจากเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรีว่าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งแต่สถานการณ์ยังอยู่ในขั้นไม่รุนแรง
สาเหตุการระบาดของเพลี้ยแป้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดขยายวงกว้างขึ้นเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกและมีการใช้ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์ จากนั้นหลังปลูกจะมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่ต้นมันสำปะหลังอื่นและแปลงข้างเคียง
มีรายงานว่าในประเทศแถบอัฟริกาและอเมริกาใต้การระบาดของเพลี้ยแป้งทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง 20 – 80 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของประเทศไทยพบว่าในหลายพื้นที่ที่พบการระบาดขณะต้นยังเล็กมีความรุนแรงจนต้องไถทิ้งและปลูกใหม่แต่ก็ยังระบาดซ้ำอีก เนื่องจากยังมี เพลี้ยแป้งอยู่บนเศษซากต้น และมีการระบาดที่แปลงข้างเคียง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ต้องใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 500 ต้นรวมทั้งเกษตรกรต้องพ่นสารกำจัดแมลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งค่าสารป้องกันแมลงและค่าแรงงานพ่น
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลต้องใช้วิธีการผสมผสาน ดังนี้
1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล
- ควรมีการไถและพรวนดินหลายๆ ครั้งและตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้ง
- ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง
- คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง และควรใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ
- แหล่งที่ยังไม่พบการระบาด ควรมีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์
- ถอนต้นหรือตัดส่วนของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลงแล้วเผาหรือทำลาย
2. การใช้ชีววิธี เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส
3. การใช้สารฆ่าแมลง ควรใช้เมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งรุนแรงเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลง ควรพ่นเฉพาะบริเวณที่พบเพลี้ยแป้ง ระยะพ่นที่เหมาะสม คือ ช่วงที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1 – 2
สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่
- ไทอะมีโทแซม 25 %WG อัตรา 4 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
- ไดโนทีฟูเรน 10%WP อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
- โปรไทโอฟอส 50%EC อัตรา 50 มล. / น้ำ 20 ลิตร
- พิริมิฟอสเมทิล 50%EC อัตรา 50 มล. / น้ำ 20 ลิตร
- ไทอะมีโทแซม / แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7%ZC อัตรา 10 มล. / น้ำ 20 ลิตร









การประกวดสัญลักษณ์ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร

วันที่ 1 ตุลาคม 2515 กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาให้เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาพันธุ์พืช และเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ผลิตผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเพื่อเผยแพร่ผลงาน ภารกิจ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรให้สาธารณชนได้รับทราบ กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดให้มีการประกวดสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตรในปี 2552 เพื่อคัดเลือกผลงานการออกแบบสัญลักษณ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับการจัดงานและใช้ในสื่อต่างๆ ที่จะจัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้รางวัลสำหรับผลงานที่ชนะการประกวดมี 1 รางวัลเป็นเงินสดจำนวน 30,000 บาท
จากการเปิดรับสมัครผลงานที่ส่งเข้าประกวดระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2552 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรวมจำนวน 76 ผลงาน
ผลการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานของ นายบำรุง อิศรกุล เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ความหมายของสัญลักษณ์
เลข 36 หมายถึง 36 ปีกรมวิชาการเกษตร
ใบไม้ แสดงถึงความความเจริญเติบโตของหน่วยงาน เปรียบเสมือนพืชที่กำลังชูช่อออกดอกใบ
สีเขียว เป็นสีแทนพืชพรรณ หมายถึงการเกษตร

หนุนเกษตรกรไม่ใช้ปุ๋ย-ยา

หนุนเกษตรกรทำนาไม่ใช้ปุ๋ย-ยา
ดึงภูมิปัญญาพื้นบ้านสานสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม

นับตั้งแต่การปฏิวัติสีเขียวในปี พ.ศ.2504 การปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมโดยหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวมุ่งเน้นที่ปริมาณของผลผลิตเพียงอย่างเดียว ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรไทยในอดีตที่เคยพึ่งพาผูกผันอยู่กับธรรมชาติ รูปแบบการผลิตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิต เกษตรกรไทยหันไปยึดติดกับความเชื่อเรื่องการเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยไม่รู้ถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก
มูลนิธิข้าวขวัญ จึงได้จัด “โครงการข้าวเพื่อสุขภาพ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสุขภาพเกษตรกรที่ยั่งยืน” ขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของโครงการก็คือการเปิด “โรงเรียนชาวนา” เพื่อให้เกษตรกรค้นหารากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเป็นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค สังคม วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อันจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า การทำการเกษตรแบบยั่งยืนนั้นมีผลวิจัยออกมาแล้วว่าส่งผลดีต่อทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเพราะยังมีมุมมองต่อความสุขที่ผิดๆ เนื่องจากการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรปลอดสารเคมีต้องอาศัยเป้าหมาย หรือแรงบันดาลใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แรงจูงใจ ไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของความสุขของชีวิตในองค์รวม ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์คนละแบบกับการทำการเกษตรปัจจุบันที่มองแบบแยกส่วนโดยมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าถ้าทำงานได้เงินมากๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นทั้งหมด
“การที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวนาจะต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสองสร้างกระบวนการกลุ่ม ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชาวนา เพราะเราจะทำให้เขาได้รู้ว่าชีวิตก็คือองค์รวม การทำงานกับวิถีชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้จะมีความสุข เพราะหากมีเงินแต่สิ่งแวดล้อมเสียไปก็ทำให้สุขภาพของเราเสียตามไป เมื่ออาหารไม่ดีไม่ปลอดภัยร่างกายของเราก็จะได้รับสิ่งที่ไม่ได้ไปด้วย” นายเดชากล่าว
ล่าสุดทางมูลนิธิข้าวขวัญ และโรงเรียนชาวนา ได้จัดงาน “สืบสานตำนานแม่โพสพกับชาวนา” ขึ้นมาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามที่กำลังสูญหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่ง คุณอนัญญา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยถึงการจัดงานในวันนี้ว่าเป็นการนำเอาความเชื่อเรื่องของพระแม่โพสพมาเชื่อโยงกับการทำนาในปัจจุบันเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับรู้จากการปฏิบัติจริงใน 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง ด้านสังคม ชาวนาจะได้เพื่อนและได้สังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันกลับคืนมา
“ด้านสำคัญที่สุดก็คือ ความคิดและสติปัญญา ซึ่งเขาจะมีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร และสามารถตัดบางสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปได้ถ้าสิ่งนั้นกระทบต่อชีวิตของเขา เพราะปัญหาของชาวนาในปัจจุบันก็คือวิกฤติทางปัญญาที่ส่งผลให้การตัดสินใจและการดำเนินชีวิตผิดพลาดไปหมด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการแก้ไขในเรื่องของปัญญาทำอย่างไรให้วิกฤติทางปัญญาลดลง เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น” คุณอนัญญากล่าว
เช่นเดียวกับ นางสาวโศภิษฏ์ แอบเพชร เกษตรกรจาก ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่พูดถึงการรื้อฟื้นตำนานความเชื่อของพระแม่โพสพว่า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงภูมิปัญญาการปลูกข้าวของคนโบราณที่กำลังสูญหายไป เพราะความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพทำให้ชาวนาเกิดความเคารพในธรรมชาติ ซึ่งเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ทำให้เราไม่ไปทำร้ายทำลายธรรมชาติ
ด้านแกนนำเกษตรกรจากชุมชนบ้านหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นายเบี้ยว ไทลา เล่าว่าในอดีตทำนาใช้ปุ๋ยและยาได้ข้าวเพียง 25-30 ถังต่อไร แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนชาวนาตั้งแต่ปี 2546 ก็หันมาปลูกข้าวแบบลดต้นทุน ไม่ใช้ปุ๋ยและยา ข้าวก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้ข้าว ถึง 56 ถังต่อไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายแค่ไร่ละ 1,700 บาทเท่านั้น
“ทำนาแบบนี้ได้ผลดีจริง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือดินในนาดีกว่าเมื่อก่อนมาก ดินจะร่วนซุยว่าตอนที่ใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อดินร่วนซุยรากก็มีโอกาสหายใจ ต้นข้าวก็แข็งแรง ผลผลิตที่ได้ก็จะเยอะขึ้นตามมา เราก็ได้กินข้าวที่เราปลูกเอง ข้าวก็เป็นข้าวปลอดสารพิษ ที่สำคัญก็คือข้าวที่ปลูกนั้นก็ขายได้ราคาดีกว่าถึงเกวียนละ 16,000 บาท” นายเบี้ยวกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
…เป้าหมายหลักของโรงเรียนชาวนาก็คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการใช้ชีวิตของชาวนา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของชาวนาได้ทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สิน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อใหม่ในเรื่องของการทำนาให้เพิ่มมากขึ้นและหยุดความเชื่อเก่าๆ ชาวนาจึงจะสามารถพึ่งตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี.

ปรับปรุงสายพันธุ์ถั่วเขียว

ปรับปรุงสายพันธุ์ถั่วเขียวแก้ปัญหาขาดธาตุเหล็กในดินด่าง
ดินด่างเป็นดินที่พบส่วนใหญ่ในบริเวณเทือกเขาสูงตอนกลาง และที่ราบภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะกอนแม่น้ำและทะเล ทำให้มีการสะสมธาตุอาหารต่างๆ และมีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ก็มักมีการสะสมของแคลเซียมคาร์บอเนตในเนื้อดินในปริมาณมาก ทำให้เกิดแร่ดินเหนียวประเภทมอนต์โมริลโลไนท์ สังเกตได้จากในฤดูฝน ดินมีการขยายตัวหรือพองตัวสูง แต่ในฤดูร้อน ดินหดตัวและแตกระแหงอย่างเด่นชัด คือ มีการยืดและหดตัวสูง
สำหรับชุดดินที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง (pH 7.0-8.5) ได้แก่ ชุดดินตาคลีและชุดดินลพบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่ โดยหนึ่งในสามของพื้นที่ (ประมาณ 1 ล้านไร่) เป็นแหล่งปลูกถั่วเขียวผิวมันที่สำคัญ คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
พันธุ์ถั่วเขียวผิวมันที่เกษตรกรในจังหวัดดังกล่าวนิยมปลูก คือ “พันธุ์กำแพงแสน 2” ซึ่งมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ได้แก่ ฝักอยู่เหนือทรงพุ่ม อายุเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าถั่วเขียวผิวมันพันธุ์อื่นๆ สามารถปลูกได้ตลอดปี ต้านทานต่อโรคใบจุดและราแป้ง อย่างไรก็ตาม พันธุ์กำแพงแสน 2 มักแสดงอาการอ่อนแอต่อการขาดธาตุเหล็กอย่างชัดเจนที่บริเวณใบยอด โดยพื้นที่ใบมีสีขาวซีดหรือที่เรียกว่าอาการใบซีดขาว หรือ “คลอโรซิส” (chlorosis) ใบเล็ก หนา หยาบกระด้าง และถ้าอาการรุนแรงมาก จะมีอาการตายจากยอดลงมา ในขณะที่ใบล่างยังเขียวอยู่ ซึ่งผลที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กในถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 2 ทำให้ลำต้นแคระแกร็น ผลผลิตต่อไร่ลดลง 30-80% เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีการสะสมของแคลเซียมคาร์บอเนตในเนื้อดิน เนื่องจากธาตุอาหารที่สะสมในดินชนิดนี้จะถูกพืชนำออกมาใช้ได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเหล็กซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยพืชต้องการธาตุเหล็กมาใช้ในการสร้างคลอโรฟิลล์และเอนไซม์ต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กของถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 2 ที่เพาะปลูกในดินด่าง เกษตรกรสามารถฉีดพ่นต้นถั่วเขียวด้วย Fe-DTPA และ Fe-EDTA ซึ่งเป็นสารประกอบเหล็กคีเลท ทำให้อาการใบซีดขาวหายเป็นปกติหรือดีขึ้น และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กโดยใช้สารประกอบเหล็กคีเลท ไม่เป็นที่นิยมของเกษตรกร เพราะสารประกอบเหล่านี้มีราคาแพง และไม่เหมาะสมจะใช้กับพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ดังนั้น ศ.ดร.พีระศักดิ์ และคณะ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวกำแพงแสน 2 ที่เกษตรกรนิยมปลูก ให้ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็ก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่เกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) และ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ประยูร ประเทศ และรัตนากร กฤษณชาญดี นักวิจัยร่วมทีม กล่าวถึงการวิจัยนี้ว่าได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมถั่วเขียวและพันธุ์การค้าทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 241 พันธุ์ ปลูกทดสอบในแปลงที่มีดินด่าง ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เพื่อทำการคัดเลือกหาพันธุ์ถั่วเขียวที่ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็ก โดยคัดเลือกจากอาการขาดธาตุเหล็กที่แสดงออกและการวัดปริมาณคลอโรฟิลล์ พบพันธุ์ถั่วเขียวที่ทนทาน จำนวน 196 พันธุ์ และอ่อนแอต่อการขาดธาตุเหล็ก จำนวน 45 พันธุ์ แต่วิธีการคัดเลือกที่ใช้มีข้อจำกัด คือ ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งยังไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ (1) การกระจายของแคลเซียมคาร์บอเนตในดินมักไม่สม่ำเสมอ (2) ปริมาณน้ำในดินมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรดเป็นด่างในดิน (3) อาการขาดธาตุที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเพียงธาตุเดียว และ (4) เสียค่าใช้จ่ายสูง
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงได้นำเครื่องหมายโมเลกุล (molecular marker หรือ DNA marker) มาช่วยคัดเลือกด้วย โดยเฉพาะเครื่องหมายโมเลกุลแบบเอเอฟแอลพี ซึ่งจากผลจากการวิจัยพบ 2 เครื่องหมาย คือ E-ACC/M-CTG และ E-ACT/M-CTA ในพันธุ์ที่ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็กจำนวน 143 และ 148 พันธุ์จาก 196 พันธุ์ ตามลำดับ ผลที่ได้จากการทดสอบในแปลงร่วมกับเทคนิคเอเอฟแอลพี สามารถนำมาตัดสินใจเลือกพันธุ์ที่ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็ก และมีลักษณะอื่นๆ ที่ดีร่วมด้วย โดยพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกเพื่อนำมาใช้เป็นคู่ผสมในการปรับปรุงพันธุ์กำแพงแสน 2 ให้ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็ก คือ พันธุ์ NM10-12-1 จากประเทศปากีสถาน
จากนั้น คณะผู้วิจัยได้สร้างประชากรจากคู่ผสมระหว่างพันธุ์กำแพงแสน 2 กับ พันธุ์ NM10-12-1 ได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ 108 สายพันธุ์ นำไปปลูกทดสอบในแปลง ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เพื่อตรวจสอบอาการขาดธาตุเหล็ก โดยใช้พันธุ์กำแพงแสน 2 และพันธุ์ NM10-12-1 เป็นตัวเปรียบเทียบ
ผลที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ พบพันธุ์ที่ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็ก จำนวน 65 สายพันธุ์ และพันธุ์ที่อ่อนแอต่อการขาดธาตุเหล็ก จำนวน 43 สายพันธุ์ หลังจากนั้นได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็กที่มีลักษณะเด่นและผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์กำแพงแสน 2 ซึ่งงานในส่วนนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายพันธุ์กำแพงแสน 2 ที่ทนทานต่อการขาดธาตุเหล็กให้กับเกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ภายในปี 2553.

ช่วยเหลือผู้ปลูกลำไย

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกลำไย มั่นใจปีนี้ไม่ขาดทุน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดผลผลิตลำไยตลอดทั้งปีประมาณ 547,075 ตัน เผยสถานการณ์ปีนี้ไม่น่าห่วง ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมดึงมาตรการช่วยเหลือทั้งสนับสนุนการบริโภคสดภายในประเทศและการส่งออก โดยอนุมัติวงเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แนะอยากให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาลำไยล้นตลาดและผลผลิตกระจุกตัว
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ สศก.คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยในฤดู 421,174 ตัน นอกฤดู 125,901 ตัน โดยรวมเป็นผลผลิตตลอดทั้งปี 547,075 ตัน เฉพาะผลผลิต 8 จังหวัดสำคัญภาคเหนือ คาดว่ามีผลผลิตในฤดู 388,744 ตัน นอกฤดู 53,668 ตัน รวมเป็นผลผลิตตลอดทั้งปีประมาณ 442,412 ตัน โดยมีผลผลิตในฤดูระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2552 ประมาณ 293,035 ตัน
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมมาตรการในการบริหารจัดการลำไย ปี 2552 โดยสนับสนุนการบริโภคสดภายในประเทศ 50,000 ตัน ส่งออกลำไยสด 40,000 ตัน ลำไยเนื้อสีทอง 30,000 ตัน ลำไยประป๋อง 20,000 ตันสด ลำไยอบแห้ง 152,000 ตันสด และลำไยแช่แข็ง 1,000 ตันสด โดยอนุมัติวงเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประมาณการใช้จ่ายในการบริหารโครงการรวมทั้งสิ้น 569 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยชาวสวนผู้ส่งออก และขยายตลาดลำไยสีทองอีก้ดวย ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2552
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางบริหารจัดการลำไยอย่างเป็นระบบ สามารถช่วยกระจายผลผลิตในฤดูได้อย่างดี แต่อยากให้ชาวสวนผลิตลำไยนอกฤดูให้มากขึ้น ลำไยสดไทยทุกวันนี้ยังไม่มีคู่แข็ง แม้แต่ในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตลำไยเหมือนกัน เนื่องจากประเทศจีนประสบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ จึงไม่สามารถผลิตลำไยนอกฤดูได้ ดังนั้น หากไทยสามารถผลิตลำไยนอกฤดูได้ประมาณร้อยละ 30 จะช่วยแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดได้มาก เพราะในช่วงที่ลำไยออกพร้อมกันจะเกิดปัญหาด้านผลผลิตกระจุกตัว ขาดแคลนแรงงาน และโรงอบลำไยที่ไม่เพียงพอรองรับผลผลิต นายมณฑล กล่าว