ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกษตรอินทรีย์...มีรายได้ตลอดปี


“แต่ก่อนไม่รู้เป็นอะไรเจ็บป่วยบ่อยมาก พอไปตรวจเลือดจึงได้รู้ว่ามีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก นี่คงเป็นผลพวงของการทำเกษตรโดยใช้สารเคมีมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น ต้นทุนในการผลิตลดลง เงินเก็บก็เยอะขึ้นด้วย” ลุงสว่าง อินต๊ะ หมอดินอาสาของสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ บ้านท่ากว้าง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟัง
ลุงสว่าง เคยทำเกษตรเคมีมาก่อน แต่พอหลังจากได้ไปอบรมและศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการตรวจสุขภาพโดยการตรวจเลือด และพบสารพิษในร่างกายขั้นอันตราย จากนั้นจึงได้กลับมาทบทวนดูว่าคงทำเกษตรเคมีต่อไปไม่ได้แล้ว จึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการหันกลับทำเกษตรอินทรีย์แทน โดยเริ่มจากการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ประกอบกับที่ตนเป็นหมอดินอาสา ของกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีโอกาสไปศึกษาอบรมในเรื่องของการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งได้รับปัจจัยการผลิตที่กรมพัฒนาที่ดินหยิบยื่นให้ เช่น สารเร่งจุลินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แล้วค่อยๆลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงเรื่อยๆ
ในการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในช่วงแรกนั้นจะค่อยๆ ลดปริมาณการใช้ลง เช่น เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมี 5 กระสอบต่อ 1 ไร่ ก็ลดปริมาณการใช้ลงเหลือ 2 กระสอบต่อ 1 ไร่ แต่จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปแทน จากนั้นจึงลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเรื่อยมา จนปัจจุบันนี้แทบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลยหากไม่จำเป็น
ปัจจุบันลุงสว่างปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรเป็นหลัก เช่น โหระพา กระเพรา แมงลัก และใบยี่หร่า มีพื้นที่ในการปลูก 2 ไร่ มีรายได้จากการเก็บพืชผักสวนครัวเหล่านี้ขายวันละ 300-500 บาท และสามารถเก็บขายได้ทุกวันตลอดทั้งปี ทำให้มีเงินเหลือเก็บประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อปี
นอกจากนี้ สวนของลุงสว่างยังเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีเกษตรกรในท้องถิ่นมาดูงานปีละไม่ต่ำว่า 800-900 คน โดยเกษตรกรที่มาอบรมจะได้เรียนถึงรู้วิถีชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง การลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการทำเกษตรเข้าสูเกษตรอินทรีย์ด้วย
“ปัจจุบันตั้งแต่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ในด้านสุขภาพไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญสุขภาพจิตก็ดีขึ้นด้วย ส่วนในด้านของต้นทุนการผลิตนั้น เมื่อก่อนตอนปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร พอเก็บผลผลิตแล้วก็ต้องไถทิ้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างรถมาไถประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมาก แต่เมื่อหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ได้ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพใช้เองโดยนำเศษวัสดุเหลือจากการทำเกษตรมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มากถึง 60%” นายสว่าง กล่าวย้ำ
สุดท้ายนี้ก่อนจาก ลุงสว่าง ยังได้ฝากคำแนะนำดีๆ มายังเพื่อเกษตรกรมาด้วยว่า การทำเกษตรเคมีทำให้มีรายจ่ายสูง หากเกษตรกรรายใดยังทำอยู่ ถ้าสามารถลดละเลิกได้ก็ควรทำ หันมาเข้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกดีกว่า นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากแล้ว ยังทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งพิสูจน์มาแล้วกับตัวเอง
หากเกษตรกรรายใดสนใจวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ที่สามารถสร้างทั้งสุขภาพที่ดีและรายได้ตลอดทั้งปีอย่างลุงสว่าง อินต๊ะ สามารถสอบถามเพิ่มเติมไปได้ที่ 089-6345361 รับรองว่าจะได้ข้อมูลอย่างไม่มีกั๊กแน่นอน.

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ ร่วมเกาะติดสถานการณ์ราคายาง ไทยเตรียมเสนอการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ดีเดย์ 3-7 ส.ค.นี้ ที่ จ.ภูเก็ต

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาความร่วมมือยางพารา 3 ประเทศ(International Rubber Tripartite Council หรือ ITRC) ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานในมาตรการบริหารจัดการการผลิต และการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังมีการประเมินสถานการณ์ราคายางพาราทั้งภายในและต่างประเทศ โดยผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งด้านพื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิต การตลาดและการส่งออก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เตรียมเสนอให้มาเลเซียและอินโดนีเซียพิจารณาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้การผลิตและการตลาดยางพารา เพื่อให้ราคายางสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า ไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา 3 ประเทศ จัดตั้งตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบยางจริง โดยใช้โมเดลของไทยที่มีการซื้อขายยางแบบข้อตกลงล่วงหน้า(Physical Forward contract) ที่ทดลองดำเนินการโดย สำนักตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นต้นแบบ ซึ่งวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นราคาที่แท้จริงในแต่ละช่วงเวลาล่วงหน้า ทั้งยังช่วยประกันความเสี่ยงด้านการผันผวนของราคายางพาราได้ หากทั้ง 3 ประเทศร่วมกันพัฒนาตลาดนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น อนาคตคาดว่าจะสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลกได้

“นอกจากนั้นไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา เร่งผลักดันแนวทางการขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมนอกภูมิภาคอาเซียนที่จะมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร เนื่องจากสวนยางเป็นป่าปลูกที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 42 ตันต่อไร่และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงควรขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว/////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

HELLO,Tha ChanG: มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

HELLO,Tha ChanG: มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (วิทยาเขตโชติเวช) ได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ปี 2553” ในงานประจำปี “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 4 ขึ้น ระหว่างวันที่ 10 – 15 สิงหาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อสนองพระราชดำริ และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 78 พรรษา รวมทั้งส่งเสริมอนุรักษ์ และเผยแพร่สายพันธุ์ไผ่ในประเทศไทย ตลอดจนแสดงเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาดไผ่ เป็นการเผยแพร่คุณค่า คุณประโยชน์ที่หลากหลายของไผ่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว ในวันที่ 10 สิงหาคม 2553 เวลา 15.30 น.
สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการสนองพระราชดำริ และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โครงการทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้ว โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ การส่งออก และการตลาดไผ่ ได้แก่ แผนที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ในการสร้างสวนไผ่ และข้อมูลชุดดินที่เหมาะสมต่อการปลูกไผ่ ประโยชน์ของไผ่ที่มีต่อดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน การขยายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกร โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พืชสวน) จังหวัดน่าน การเพาะเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ (หนอนรถด่วน) กระดาษจากไผ่ แผ่นไม้ไผ่อัดซีเมนต์ ถ่านไม้ไผ่ น้ำส้มควันไม้ โดยกรมป่าไม้ เรื่องสายพันธุ์ไผ่ อาหารหมีแพนด้า โดยคุณโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น นิทรรศการแสดงความหลากหลายของสายพันธุ์ไผ่ นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของคนไทยในการใช้ประโยชน์จากไผ่ เช่น การจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ อย่างน้อย 30 ชนิด โดยกรมประมง การจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงไหม และสาธิตการสาวไหม โดยกรมหม่อนไหม การจัดแสดงสายพันธุ์ไก่ในโรงเลี้ยงไม้ไผ่ กระดิ่งผูกคอโค การฟักไก่ไข่แบบโบราณ โดยกรมปศุสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการสาธิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์จากไผ่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมาสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากไผ่วันละ 2 รอบ จำนวน 2 เรื่อง ในช่วงเวลา 11.00 น. และเวลา 14.00 น. ตลอดการจัดงาน รวมทั้งการจัดร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากไผ่ ซึ่งมาจากวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับไผ่เข้าร่วมจัดร้านจำหน่ายสินค้า จำนวน 25 ร้านค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่ ว่าวไทยทำด้วยกระดาษสา ร่มไม้ไผ่ ตุ๊กตาไม้ ผลิตภัณฑ์ถาดไม้ไผ่ โตกไม้ไผ่ ไม้ไผ่จักสานหุ้มเซรามิก กระเป๋าถือสุภาพสตรีแบบต่างๆ จากวิสาหกิจชุมชนสานศิลป์บางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น นอกจากนี้ประธานชมรมคนรักไผ่จะเข้าร่วมในการแสดง และจัดจำหน่ายสายพันธุ์ไผ่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากไผ่ การจัดประกวด/แข่งขัน และการแจกพันธุ์ไผ่แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย.

ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

มนัส พุ่มมะปราง ประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะรักษาและสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อไปแบบปลอดภัยและยั่งยืน โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางปฏิบัติ
จากอาชีพครูเปลี่ยนเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าว ทำให้ทราบถึงพิษภัยของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผลผลิต จึงได้หันเหสู่วิถีทางเข้าสู่การเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทำปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิด ทั้งปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และสารสกัดชีวภาพต่างๆ พร้อมกับเข้าร่วมอบรมตามหน่วยงานต่างๆ แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง 20 ไร่ จนประสบความสำเร็จ และปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบของชุมชนชาว ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
คุณมนัสเล่าว่า ครั้งแรกเริ่มจากการปลูกผักโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งผลที่ออกมาก็ถืออยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้สำหรับมือใหม่หัดขับ แต่พอได้ศึกษาและเรียนรู้มากขึ้นผลสำเร็จก็ยิ่งเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลผลิต คุณภาพ สภาพดิน และที่สำคัญต้นทุนการผลิตลดลง ผมจึงได้เกิดแนวคิดที่จะผลักดันและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน โดยได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชนขึ้น ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีกรมพัฒนาที่ดินเป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุน เริ่มดำเนินการก่อตั้งปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับมะละกอนั้นครั้งแรกผมได้เมล็ดพันธุ์มาจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืช เพาะเลี้ยง) จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพันธุ์ปลักไม้ลาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “มะละกอฮอลแลนด์” โดยเริ่มต้นทดลองปลูกไว้ 40 ต้น พร้อมกับเรียนรู้และศึกษาข้อมูลไปในตัว อีกส่วนหนึ่งก็ศึกษาจากตำราบ้าง สอบถามจากผู้รู้บ้าง จนทุกวันนี้เกิดความเชี่ยวชาญและขยายพื้นที่เพาะปลูกออกเป็น 5 ไร่ เน้นทำเกษตรอินทรีย์เต็มร้อย (ไม่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด)
ขั้นตอนการปลูกและการดูแล คุณมนัส บอกว่า พืชจะโตดีให้ผลผลิตดีต้องเริ่มต้นจากการรู้เรื่องดินเตรียมดินที่ถูกต้อง โดยปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์ กรณีที่เป็นดินเสื่อมมากให้ใช้ปุ๋ยพืชสด โดยลงปลูกปอเทือง 45-55 วัน แล้วไถกลบ จากนั้นนำละอองข้าวหรือบางคนก็เรียกว่า คายข้าว และแกลบดำมาใส่ในแปลง อัตราส่วน 8 : 2 แล้วทำการไถกลบไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง เสร็จแล้วทำการยกร่องปลูกขนาด 3 x 3 เมตร ระยะปลูกที่เหมาะสม 2.50x2.50 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ใช้กล้ามะละกอประมาณ 256 ต้น หรือ 3.0x3.0 เมตร
การให้น้ำ มะละกอเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำแฉะและขัง ดังนั้นควรให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือผ่านระบบสปริงเกลอร์ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง หากทำการคลุมดินด้วยฟางได้ก็จะยิ่งดี เนื่องจากจะช่วยรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยหมักเป็นหลัก โดยแต่ละครั้งจะใส่ต้นละ 5-6 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาดต้น หากต้นเล็กก็ใส่น้อย ต้นใหญ่ก็ใส่มากหน่อย) ซึ่งจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เดือนละครั้ง สลับกับการราดน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและน้ำหมักจุลินทรีย์จากปลา (สำหรับน้ำหมักที่จะใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 200) ราดรอบๆ โคนต้นทุกๆ 2-3 อาทิตย์/ครั้ง
สำหรับทางใบ ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เพื่อช่วยป้องกันโรคแมลง ซึ่งจะทำให้มะละกอผิวสวย มีรสชาติดี และต้านทานโรคดีขึ้น ความถี่ในการฉีดพ่นสังเกตจากแมลง หากพบปริมาณมากๆ ก็จะฉีดอาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าน้อยก็อาจเป็น 2-3 อาทิตย์/ครั้ง ช่วงออกดอกเสริมด้วยฮอร์โมนไข่อีกแรง ซึ่งจะช่วยให้ดอกติดดีขึ้น (ผสมอัตราส่วนเท่าเดิม) ฉีดพ่นเดือนละครั้ง สามารถผสมไปพร้อมกับน้ำส้มควันไม้ได้เลย
“หลายคนสงสัยว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพให้แก่พืชนั้นจะได้ธาตุอาหารครบถ้วนหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าครบ เพียงแต่ว่าท่านจะใส่ได้เพียงพอต่อความต้องการของพืชหรือไม่ ซึ่งปริมาณการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะต้องเน้นปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมี” คุณมนัส บอกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ผลผลิตของมะละกอมักจะสะดุดในช่วงเดือนเมษายน คืออากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ดอกเป็นหมัน แล้วต้นก็จะโทรม แม้จะให้น้ำมากขนาดไหนก็ยังสู้ความร้อนแรงของแสงแดดไม่ได้ ดังนั้นผลผลิตในช่วงนี้เราก็จะต้องเว้นระยะไป ช่วงเดือนพฤษภาคมต้นจะเริ่มฟื้นต้น (เริ่มมีฝนมา) และจะกลับคืนสู่สภาพที่ดีได้ในเดือนมิถุนายน
ปริมาณผลผลิตโดยเฉลี่ยตกอยู่ที่วันละ 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะนำไปขายเองที่ตลาดเช้า ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 25 บาท ขายหมดทุกวันเนื่องจากผู้บริโภคให้ความไว้วางใจเรื่องความปลอดภัยและรสชาติที่หวานอร่อยถูกใจ หากช่วงไหนที่มีผลผลิตมากๆ ส่วนหนึ่งจะส่งไปขายที่บึงฉวากด้วย
สุดท้ายนี้คุณมนัสได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ในเบื้องต้นทุกคนรู้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากเห็นผลช้า ไม่ทันใจ หรือต้องเสี่ยงกับความเสียหายของผลผลิต ซึ่งในความเป็นจริง หากผู้ทำที่มีความตั้งใจจริง มีการศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง และมีความพากเพียร ผลสำเร็จก็จะติดตามมาในไม่ช้า ผมว่า ความยากง่ายของการทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ทำเป็นหลัก”
สนใจเยี่ยมชมดูความสำเร็จด้านเกษตรอินทรีย์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มนัส พุ่มมะปราง บ้านเลขที่ 35 ม.9 ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โทร.08-1341-5775.

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งานวิจัยดีเด่น“กาแฟอาราบิก้า” ครบวงจร...

“การวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร” เป็นผลงานวิจัยหนึ่งใน 11 เรื่อง ที่กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ พร้อมสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าเสรีได้
นายมานพ หาญเทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าในเขตภาคเหนือประสบปัญหาการระบาดของโรคราสนิม (leaf rust) ซึ่งสร้างความเสียหายให้เกษตรกรจำนวนมาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม ที่เกิดจากเชื้อรา Hemileia vastatrix B.&Br. มาตั้งแต่ปี 2528-2547 สามารถคัดเลือกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 และต่อมาได้ประกาศรับรองพันธุ์กาแฟพันธุ์ดังกล่าวในชื่อ พันธุ์เชียงใหม่80
กาแฟอาราบิก้าพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ(coffee bean)เฉลี่ย 5 ปี สูงถึง 215 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ Caturra, Bourbon และ Typica ที่เกษตรกรปลูกทั่วไปซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 90-120 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งยังให้ปริมาณสารกาแฟ เกรด A เฉลี่ย 5 ปี 81.3-87.3 % มีคุณภาพการชิม(Cup quality test) อยู่ระดับ 6.5-7 คะแนน(จาก 10 คะแนน) สูงกว่าพันธุ์ Caturra ที่ได้ 5.5 คะแนน สำหรับสภาพพื้นที่ที่แนะนำให้ปลูก คือ เขตภาคเหนือบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี แต่กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ก็มีข้อจำกัด คือ ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา หรือระหว่างแถวไม้ผลยืนต้น เช่น มะคาดิเมีย บ๊วย ลิ้นจี่ เนื่องจากไม่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เร่งขยายผลโครงการฯ โดยการผลิตต้นกล้าพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 จำหน่ายจ่ายแจกให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตาก และจังหวัดใกล้เคียง นำไปปลูกแล้ว 2,342,000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,200 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังได้เร่งสร้างและพัฒนาเกษตรกรผู้นำ และแปลงต้นแบบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย ประมาณ 15 แปลง
อีกทั้งยังเร่งขยายผลการสร้างผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วสดต้นแบบ 3 สูตร ได้แก่ DoA Gold Coffee, DoA Silver Coffee และ DoA Iced Coffee ภายใต้แบรนด์ “DoA Coffee”(ดีโอเอคอฟฟี่) ซึ่งถือเป็นกาแฟสูตรพิเศษที่มีความโดดเด่นเปป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจกาแฟ และนำสูตรไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อจำหน่าย เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า เมล็ดกาแฟไทยมีคุณภาพ
นายมานพกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ได้ปีละ 250-400 กิโลกรัม ทั้งยังมีขีดความสามารถในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้ปีละ 700,000-800,000 ต้น นอกจากนั้นยังได้ขยายต้นแม่พันธุ์โดยการเสียบยอด เพื่อสร้างแปลงแม่พันธุ์บริสุทธิ์พร้อมควบคุมการผสมเกสร ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 100-150 กิโลกรัม และผลิตต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีได้ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านต้น/ปี สำหรับปลูกในพื้นที่ได้กว่า 7,500 ไร่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรมีความต้องการใช้กาแฟพันธุ์ดีเพิ่มสูงขึ้น
ปี 2554 กรมวิชาการเกษตรได้มีโครงการที่จะประกาศรับรองพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรอีกอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานโรคราสนิม และให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์กาแฟ สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าของไทย พร้อมช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตกาแฟอาราบิก้าไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5311-4133-5 และ 0-5311-4070-1.

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองส่งออก





การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตรเพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของเกษตรกรไทย ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ด้วยการจัดตั้ง “นิคมการเกษตร” เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร พร้อมกับเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
นายเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)เปิดเผยว่า นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการจัดตั้งนิคมการเกษตร ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหนึ่งในหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และ จังหวัดชุมพร ดังนั้นส.ป.ก.จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร เร่งดำเนินการในส่วนของนิคมการเกษตรกล้วยหอมเพื่อการส่งออก
นายกระแส จันทรังษี ปฎิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกประสบความสำเร็จได้นั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพรเข้ามาช่วยเหลือและเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในด้านการจัดที่รูปที่ดิน การวิเคราะห์ดิน การจัดหาแหล่งน้ำ การจัดกลุ่มเกษตรกร และสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็น ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนแหล่งทุน ผ่านกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ซึ่งในปี 2553 นี้ ได้ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรภายในนิคมการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้น 3 ล้าน เพื่อนำมาจัดสร้างโรงคัดแยกผลผลิตกล้วยหอมทองก่อนการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้แหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งออกไปญี่ปุ่นขนาดใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากลุ่มเกษตรกรในนิคมการเกษตรของจังหวัดชุมพรจะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตได้ทัดเทียมกับจังหวัดเพชรบุรี ทั้งในด้านการปลูก การผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้กล้วยหอมทองคุณภาพและปลอดสารพิษ โดยจุดเด่นของ จ.ชุมพร คือ รสชาติของกล้วยหอมทองที่จัดจ้าน เนื่องจากปลูกในพื้นที่ดอน ในขณะที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ลุ่มผลผลิตกล้วยหอมทองที่ได้จะมีรสชาติอ่อนกว่า
ด้านนายดำรง แสงแก้ว หนึ่งในผู้ปลูกกล้วยหอมทอง กล่าวว่า เดิมชาวบ้านในพื้นที่ ต.ถ้ำสิงห์ ส่วนใหญ่จะปลูกไม้ผลจำพวก เงาะ มังคุด ทุเรียน เหมือนพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป แต่มักประสบปัญหาผลผลิตล้าตลาด และราคาตกต่ำ จนกระทั่งมีการจัดตั้งนิคมการเกษตร พร้อมกับได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรในการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก
เกษตรกรในพื้นที่จึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก โดยกล้วยหอมทองที่ปลูกจะเลือกใช้พันธุ์ กล้วยหอมทองกาบดำ มีการจัดการการผลิตในแบบปลอดสารพิษ ส่วนการปลูกนั้นจะมีทั้งการปลูกเป็นแปลงใหญ่และการปลูกแซมในพื้นที่สวนผลไม้เดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มแล้วประมาณ 100 ราย พื้นที่การผลิตประมาณ 1,500 ไร่ กำลังการผลิตเฉลี่ย 1- 1.5 ตัน/ไร่ ส่วนการรับซื้อจะกำหนดราคาประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งเกษตรกรจะได้กำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000 – 10,000 บาท/ไร่ ซึ่งบางรายก็เป็นรายได้เสริมจากรายได้หลัก ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มากนักแต่ก็ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวดีขึ้น
นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของนิคมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ และทำให้เห็นภาพของการบูรณาการและความร่วมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐและชุมชน ที่จะช่วยกันในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต.

ทำเกษตรผสมผสาน….สร้างชีวิตพอเพียง




แม้ว่าภาคเกษตรในขณะนี้จะเป็นที่หมายปองของผู้ตกงานจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรเป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็อยากให้ลองศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนที่จะเข้ามาสู่อาชีพนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากการเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผ่านการเรียนรู้ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ โรคแมลงศัตรูพืช ราคาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาที่ดินทำกินอีกมากมายสารพัด
เกษตรกรจึงต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคพร้อมกันนี้ต้องเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่เสมอ เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างแท้จริง วันนี้เรามีตัวอย่างเกษตรกรที่ฝ่าฟันอุปสรรคสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นผืนดินที่เพาะปลูกพืชสร้างรายได้ทุกวัน สร้างชีวิตที่มีความสุขไม่มีหนี้สินอยู่แบบพอเพียงมาแนะนำ
นายสำรอง แตงพลับ เกษตรกรที่จบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่วันนี้เขาประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 สาขา การพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเรื่องนี้นายสำรอง เล่าว่า ผมเริ่มประกอบอาชีพเกษตรมาตั้งแต่ปี 2501 โดยทำไร่ปลูกสับปะรด ทำไร่อ้อย ทำมาจนกระทั่งปี 2535 ใช้ที่ดินติดต่อมาเรื่อยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช ศัตรูพืชติดต่อมาเป็นเวลานาน ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินเลย ทำให้ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องยิ่งใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งตอนแรกที่เริ่มทำการเกษตรก็ได้ไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน เมื่อผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยขณะที่ต้นทุนสูง เป็นผลให้หนี้สินพอกพูน จึงคิดว่าทำอย่างไรดีที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
กระทั่งเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรจากทุกแหล่งที่หาได้ ที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นหมอดินอาสาประจำตำบลของกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้รับความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินทำให้สามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยมีปัญหาดินเสื่อมโทรม ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังได้เข้าเป็นสมาชิกศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และนี่เองก็เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ชีวิตดีขึ้น
เมื่อมีความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินเพิ่มขึ้นจึงได้ปรับระบบจากการปลูกเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน โดยวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความเหมาะสมของดิน โดยแบ่งพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ทำการเกษตรในรูปแบบไร่นาสวนผสมโดยปลูกไม้ผล พืชผัก พืชไร่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่ขุดร่องสวนเพิ่มอีก 8 ไร่ ขุดสระน้ำ 1 บ่อ จำนวน 1 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาอีก 3 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกไม้ผล และนาข้าวเพิ่มขึ้นอีก รวมเนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ นอกจากนี้ ในด้านการปรับปรุงบำรุงดินยังได้เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อช่วยในการย่อยใบไม้และเศษพืชผัก ใช้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น และมีการทำและใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับเศษผักผลไม้ใช้ในการบำรุงดินและใช้เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นในคอกหมูหลุม โดยให้สัตว์กินและราดทำความสะอาดในพื้นคอกสัตว์ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีแมลงวันรบกวน พร้อมกับผลิตเตาน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งได้ทั้งถ่านและน้ำส้มควันไม้จำนวนมาก
“ทุกวันนี้ผมสามารถสร้างรายได้จากการขายผลผลิตในไร่เรียกว่ามีรายได้ทุกวันและลดรายจ่ายจาการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีลงมาก ทำให้ผมสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้ และถึงแม้ว่าผมจะไม่มีหนี้สินแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือปฏิบัติมาตลอดคือการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวปรัชญาของในหลวง อีกสิ่งที่สำคัญคือทุกวันนี้ผมยังไม่หยุดที่จะหาความรู้ใส่ตัว เนื่องจากเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราสามารถนำความรู้ของเราที่มีอยู่มาปรับใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ทำให้เราเกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง” หมอดินสำรอง กล่าวย้ำ
หากสนใจอยากจะเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับหมอดินดีเด่นท่านนี้ สามารถติดต่อไปได้ที่ 69/1 ม.4 ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี.