ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งานวิจัยดีเด่น“กาแฟอาราบิก้า” ครบวงจร...

“การวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร” เป็นผลงานวิจัยหนึ่งใน 11 เรื่อง ที่กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ พร้อมสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าเสรีได้
นายมานพ หาญเทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าในเขตภาคเหนือประสบปัญหาการระบาดของโรคราสนิม (leaf rust) ซึ่งสร้างความเสียหายให้เกษตรกรจำนวนมาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม ที่เกิดจากเชื้อรา Hemileia vastatrix B.&Br. มาตั้งแต่ปี 2528-2547 สามารถคัดเลือกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 และต่อมาได้ประกาศรับรองพันธุ์กาแฟพันธุ์ดังกล่าวในชื่อ พันธุ์เชียงใหม่80
กาแฟอาราบิก้าพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ(coffee bean)เฉลี่ย 5 ปี สูงถึง 215 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ Caturra, Bourbon และ Typica ที่เกษตรกรปลูกทั่วไปซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 90-120 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งยังให้ปริมาณสารกาแฟ เกรด A เฉลี่ย 5 ปี 81.3-87.3 % มีคุณภาพการชิม(Cup quality test) อยู่ระดับ 6.5-7 คะแนน(จาก 10 คะแนน) สูงกว่าพันธุ์ Caturra ที่ได้ 5.5 คะแนน สำหรับสภาพพื้นที่ที่แนะนำให้ปลูก คือ เขตภาคเหนือบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี แต่กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ก็มีข้อจำกัด คือ ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา หรือระหว่างแถวไม้ผลยืนต้น เช่น มะคาดิเมีย บ๊วย ลิ้นจี่ เนื่องจากไม่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เร่งขยายผลโครงการฯ โดยการผลิตต้นกล้าพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 จำหน่ายจ่ายแจกให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตาก และจังหวัดใกล้เคียง นำไปปลูกแล้ว 2,342,000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,200 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังได้เร่งสร้างและพัฒนาเกษตรกรผู้นำ และแปลงต้นแบบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย ประมาณ 15 แปลง
อีกทั้งยังเร่งขยายผลการสร้างผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วสดต้นแบบ 3 สูตร ได้แก่ DoA Gold Coffee, DoA Silver Coffee และ DoA Iced Coffee ภายใต้แบรนด์ “DoA Coffee”(ดีโอเอคอฟฟี่) ซึ่งถือเป็นกาแฟสูตรพิเศษที่มีความโดดเด่นเปป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจกาแฟ และนำสูตรไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อจำหน่าย เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า เมล็ดกาแฟไทยมีคุณภาพ
นายมานพกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ได้ปีละ 250-400 กิโลกรัม ทั้งยังมีขีดความสามารถในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้ปีละ 700,000-800,000 ต้น นอกจากนั้นยังได้ขยายต้นแม่พันธุ์โดยการเสียบยอด เพื่อสร้างแปลงแม่พันธุ์บริสุทธิ์พร้อมควบคุมการผสมเกสร ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 100-150 กิโลกรัม และผลิตต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีได้ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านต้น/ปี สำหรับปลูกในพื้นที่ได้กว่า 7,500 ไร่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรมีความต้องการใช้กาแฟพันธุ์ดีเพิ่มสูงขึ้น
ปี 2554 กรมวิชาการเกษตรได้มีโครงการที่จะประกาศรับรองพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรอีกอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานโรคราสนิม และให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์กาแฟ สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าของไทย พร้อมช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตกาแฟอาราบิก้าไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5311-4133-5 และ 0-5311-4070-1.

ไม่มีความคิดเห็น: