ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งานวิจัยดีเด่น“กาแฟอาราบิก้า” ครบวงจร...

“การวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร” เป็นผลงานวิจัยหนึ่งใน 11 เรื่อง ที่กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ พร้อมสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าเสรีได้
นายมานพ หาญเทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าในเขตภาคเหนือประสบปัญหาการระบาดของโรคราสนิม (leaf rust) ซึ่งสร้างความเสียหายให้เกษตรกรจำนวนมาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม ที่เกิดจากเชื้อรา Hemileia vastatrix B.&Br. มาตั้งแต่ปี 2528-2547 สามารถคัดเลือกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 และต่อมาได้ประกาศรับรองพันธุ์กาแฟพันธุ์ดังกล่าวในชื่อ พันธุ์เชียงใหม่80
กาแฟอาราบิก้าพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ(coffee bean)เฉลี่ย 5 ปี สูงถึง 215 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ Caturra, Bourbon และ Typica ที่เกษตรกรปลูกทั่วไปซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 90-120 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งยังให้ปริมาณสารกาแฟ เกรด A เฉลี่ย 5 ปี 81.3-87.3 % มีคุณภาพการชิม(Cup quality test) อยู่ระดับ 6.5-7 คะแนน(จาก 10 คะแนน) สูงกว่าพันธุ์ Caturra ที่ได้ 5.5 คะแนน สำหรับสภาพพื้นที่ที่แนะนำให้ปลูก คือ เขตภาคเหนือบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี แต่กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ก็มีข้อจำกัด คือ ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา หรือระหว่างแถวไม้ผลยืนต้น เช่น มะคาดิเมีย บ๊วย ลิ้นจี่ เนื่องจากไม่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เร่งขยายผลโครงการฯ โดยการผลิตต้นกล้าพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 จำหน่ายจ่ายแจกให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตาก และจังหวัดใกล้เคียง นำไปปลูกแล้ว 2,342,000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,200 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังได้เร่งสร้างและพัฒนาเกษตรกรผู้นำ และแปลงต้นแบบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย ประมาณ 15 แปลง
อีกทั้งยังเร่งขยายผลการสร้างผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วสดต้นแบบ 3 สูตร ได้แก่ DoA Gold Coffee, DoA Silver Coffee และ DoA Iced Coffee ภายใต้แบรนด์ “DoA Coffee”(ดีโอเอคอฟฟี่) ซึ่งถือเป็นกาแฟสูตรพิเศษที่มีความโดดเด่นเปป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจกาแฟ และนำสูตรไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อจำหน่าย เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า เมล็ดกาแฟไทยมีคุณภาพ
นายมานพกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่80 ได้ปีละ 250-400 กิโลกรัม ทั้งยังมีขีดความสามารถในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้ปีละ 700,000-800,000 ต้น นอกจากนั้นยังได้ขยายต้นแม่พันธุ์โดยการเสียบยอด เพื่อสร้างแปลงแม่พันธุ์บริสุทธิ์พร้อมควบคุมการผสมเกสร ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 100-150 กิโลกรัม และผลิตต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีได้ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านต้น/ปี สำหรับปลูกในพื้นที่ได้กว่า 7,500 ไร่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรมีความต้องการใช้กาแฟพันธุ์ดีเพิ่มสูงขึ้น
ปี 2554 กรมวิชาการเกษตรได้มีโครงการที่จะประกาศรับรองพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรอีกอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานโรคราสนิม และให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์กาแฟ สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าของไทย พร้อมช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตกาแฟอาราบิก้าไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5311-4133-5 และ 0-5311-4070-1.

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองส่งออก





การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตรเพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของเกษตรกรไทย ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ด้วยการจัดตั้ง “นิคมการเกษตร” เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร พร้อมกับเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
นายเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)เปิดเผยว่า นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการจัดตั้งนิคมการเกษตร ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหนึ่งในหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และ จังหวัดชุมพร ดังนั้นส.ป.ก.จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร เร่งดำเนินการในส่วนของนิคมการเกษตรกล้วยหอมเพื่อการส่งออก
นายกระแส จันทรังษี ปฎิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกประสบความสำเร็จได้นั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพรเข้ามาช่วยเหลือและเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในด้านการจัดที่รูปที่ดิน การวิเคราะห์ดิน การจัดหาแหล่งน้ำ การจัดกลุ่มเกษตรกร และสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็น ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนแหล่งทุน ผ่านกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ซึ่งในปี 2553 นี้ ได้ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรภายในนิคมการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้น 3 ล้าน เพื่อนำมาจัดสร้างโรงคัดแยกผลผลิตกล้วยหอมทองก่อนการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้แหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งออกไปญี่ปุ่นขนาดใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากลุ่มเกษตรกรในนิคมการเกษตรของจังหวัดชุมพรจะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตได้ทัดเทียมกับจังหวัดเพชรบุรี ทั้งในด้านการปลูก การผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้กล้วยหอมทองคุณภาพและปลอดสารพิษ โดยจุดเด่นของ จ.ชุมพร คือ รสชาติของกล้วยหอมทองที่จัดจ้าน เนื่องจากปลูกในพื้นที่ดอน ในขณะที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ลุ่มผลผลิตกล้วยหอมทองที่ได้จะมีรสชาติอ่อนกว่า
ด้านนายดำรง แสงแก้ว หนึ่งในผู้ปลูกกล้วยหอมทอง กล่าวว่า เดิมชาวบ้านในพื้นที่ ต.ถ้ำสิงห์ ส่วนใหญ่จะปลูกไม้ผลจำพวก เงาะ มังคุด ทุเรียน เหมือนพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป แต่มักประสบปัญหาผลผลิตล้าตลาด และราคาตกต่ำ จนกระทั่งมีการจัดตั้งนิคมการเกษตร พร้อมกับได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรในการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก
เกษตรกรในพื้นที่จึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก โดยกล้วยหอมทองที่ปลูกจะเลือกใช้พันธุ์ กล้วยหอมทองกาบดำ มีการจัดการการผลิตในแบบปลอดสารพิษ ส่วนการปลูกนั้นจะมีทั้งการปลูกเป็นแปลงใหญ่และการปลูกแซมในพื้นที่สวนผลไม้เดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มแล้วประมาณ 100 ราย พื้นที่การผลิตประมาณ 1,500 ไร่ กำลังการผลิตเฉลี่ย 1- 1.5 ตัน/ไร่ ส่วนการรับซื้อจะกำหนดราคาประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งเกษตรกรจะได้กำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000 – 10,000 บาท/ไร่ ซึ่งบางรายก็เป็นรายได้เสริมจากรายได้หลัก ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มากนักแต่ก็ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวดีขึ้น
นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของนิคมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ และทำให้เห็นภาพของการบูรณาการและความร่วมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐและชุมชน ที่จะช่วยกันในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต.

ทำเกษตรผสมผสาน….สร้างชีวิตพอเพียง




แม้ว่าภาคเกษตรในขณะนี้จะเป็นที่หมายปองของผู้ตกงานจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรเป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็อยากให้ลองศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนที่จะเข้ามาสู่อาชีพนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากการเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผ่านการเรียนรู้ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ โรคแมลงศัตรูพืช ราคาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาที่ดินทำกินอีกมากมายสารพัด
เกษตรกรจึงต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคพร้อมกันนี้ต้องเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่เสมอ เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างแท้จริง วันนี้เรามีตัวอย่างเกษตรกรที่ฝ่าฟันอุปสรรคสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นผืนดินที่เพาะปลูกพืชสร้างรายได้ทุกวัน สร้างชีวิตที่มีความสุขไม่มีหนี้สินอยู่แบบพอเพียงมาแนะนำ
นายสำรอง แตงพลับ เกษตรกรที่จบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่วันนี้เขาประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 สาขา การพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเรื่องนี้นายสำรอง เล่าว่า ผมเริ่มประกอบอาชีพเกษตรมาตั้งแต่ปี 2501 โดยทำไร่ปลูกสับปะรด ทำไร่อ้อย ทำมาจนกระทั่งปี 2535 ใช้ที่ดินติดต่อมาเรื่อยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช ศัตรูพืชติดต่อมาเป็นเวลานาน ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินเลย ทำให้ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องยิ่งใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งตอนแรกที่เริ่มทำการเกษตรก็ได้ไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน เมื่อผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยขณะที่ต้นทุนสูง เป็นผลให้หนี้สินพอกพูน จึงคิดว่าทำอย่างไรดีที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
กระทั่งเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรจากทุกแหล่งที่หาได้ ที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นหมอดินอาสาประจำตำบลของกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้รับความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินทำให้สามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยมีปัญหาดินเสื่อมโทรม ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังได้เข้าเป็นสมาชิกศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และนี่เองก็เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ชีวิตดีขึ้น
เมื่อมีความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินเพิ่มขึ้นจึงได้ปรับระบบจากการปลูกเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน โดยวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความเหมาะสมของดิน โดยแบ่งพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ทำการเกษตรในรูปแบบไร่นาสวนผสมโดยปลูกไม้ผล พืชผัก พืชไร่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่ขุดร่องสวนเพิ่มอีก 8 ไร่ ขุดสระน้ำ 1 บ่อ จำนวน 1 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาอีก 3 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกไม้ผล และนาข้าวเพิ่มขึ้นอีก รวมเนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ นอกจากนี้ ในด้านการปรับปรุงบำรุงดินยังได้เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อช่วยในการย่อยใบไม้และเศษพืชผัก ใช้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น และมีการทำและใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับเศษผักผลไม้ใช้ในการบำรุงดินและใช้เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นในคอกหมูหลุม โดยให้สัตว์กินและราดทำความสะอาดในพื้นคอกสัตว์ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีแมลงวันรบกวน พร้อมกับผลิตเตาน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งได้ทั้งถ่านและน้ำส้มควันไม้จำนวนมาก
“ทุกวันนี้ผมสามารถสร้างรายได้จากการขายผลผลิตในไร่เรียกว่ามีรายได้ทุกวันและลดรายจ่ายจาการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีลงมาก ทำให้ผมสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้ และถึงแม้ว่าผมจะไม่มีหนี้สินแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือปฏิบัติมาตลอดคือการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวปรัชญาของในหลวง อีกสิ่งที่สำคัญคือทุกวันนี้ผมยังไม่หยุดที่จะหาความรู้ใส่ตัว เนื่องจากเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราสามารถนำความรู้ของเราที่มีอยู่มาปรับใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ทำให้เราเกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง” หมอดินสำรอง กล่าวย้ำ
หากสนใจอยากจะเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับหมอดินดีเด่นท่านนี้ สามารถติดต่อไปได้ที่ 69/1 ม.4 ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี.