ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ ร่วมเกาะติดสถานการณ์ราคายาง ไทยเตรียมเสนอการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ดีเดย์ 3-7 ส.ค.นี้ ที่ จ.ภูเก็ต

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาความร่วมมือยางพารา 3 ประเทศ(International Rubber Tripartite Council หรือ ITRC) ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานในมาตรการบริหารจัดการการผลิต และการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังมีการประเมินสถานการณ์ราคายางพาราทั้งภายในและต่างประเทศ โดยผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งด้านพื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิต การตลาดและการส่งออก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เตรียมเสนอให้มาเลเซียและอินโดนีเซียพิจารณาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้การผลิตและการตลาดยางพารา เพื่อให้ราคายางสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า ไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา 3 ประเทศ จัดตั้งตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบยางจริง โดยใช้โมเดลของไทยที่มีการซื้อขายยางแบบข้อตกลงล่วงหน้า(Physical Forward contract) ที่ทดลองดำเนินการโดย สำนักตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นต้นแบบ ซึ่งวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นราคาที่แท้จริงในแต่ละช่วงเวลาล่วงหน้า ทั้งยังช่วยประกันความเสี่ยงด้านการผันผวนของราคายางพาราได้ หากทั้ง 3 ประเทศร่วมกันพัฒนาตลาดนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น อนาคตคาดว่าจะสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลกได้

“นอกจากนั้นไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา เร่งผลักดันแนวทางการขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมนอกภูมิภาคอาเซียนที่จะมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร เนื่องจากสวนยางเป็นป่าปลูกที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 42 ตันต่อไร่และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงควรขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว/////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

HELLO,Tha ChanG: มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

HELLO,Tha ChanG: มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (วิทยาเขตโชติเวช) ได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมไผ่แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ปี 2553” ในงานประจำปี “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 4 ขึ้น ระหว่างวันที่ 10 – 15 สิงหาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อสนองพระราชดำริ และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 78 พรรษา รวมทั้งส่งเสริมอนุรักษ์ และเผยแพร่สายพันธุ์ไผ่ในประเทศไทย ตลอดจนแสดงเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาดไผ่ เป็นการเผยแพร่คุณค่า คุณประโยชน์ที่หลากหลายของไผ่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว ในวันที่ 10 สิงหาคม 2553 เวลา 15.30 น.
สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการสนองพระราชดำริ และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โครงการทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้ว โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ การส่งออก และการตลาดไผ่ ได้แก่ แผนที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ในการสร้างสวนไผ่ และข้อมูลชุดดินที่เหมาะสมต่อการปลูกไผ่ ประโยชน์ของไผ่ที่มีต่อดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน การขยายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกร โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พืชสวน) จังหวัดน่าน การเพาะเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ (หนอนรถด่วน) กระดาษจากไผ่ แผ่นไม้ไผ่อัดซีเมนต์ ถ่านไม้ไผ่ น้ำส้มควันไม้ โดยกรมป่าไม้ เรื่องสายพันธุ์ไผ่ อาหารหมีแพนด้า โดยคุณโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น นิทรรศการแสดงความหลากหลายของสายพันธุ์ไผ่ นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของคนไทยในการใช้ประโยชน์จากไผ่ เช่น การจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ อย่างน้อย 30 ชนิด โดยกรมประมง การจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงไหม และสาธิตการสาวไหม โดยกรมหม่อนไหม การจัดแสดงสายพันธุ์ไก่ในโรงเลี้ยงไม้ไผ่ กระดิ่งผูกคอโค การฟักไก่ไข่แบบโบราณ โดยกรมปศุสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการสาธิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์จากไผ่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมาสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากไผ่วันละ 2 รอบ จำนวน 2 เรื่อง ในช่วงเวลา 11.00 น. และเวลา 14.00 น. ตลอดการจัดงาน รวมทั้งการจัดร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากไผ่ ซึ่งมาจากวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับไผ่เข้าร่วมจัดร้านจำหน่ายสินค้า จำนวน 25 ร้านค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่ ว่าวไทยทำด้วยกระดาษสา ร่มไม้ไผ่ ตุ๊กตาไม้ ผลิตภัณฑ์ถาดไม้ไผ่ โตกไม้ไผ่ ไม้ไผ่จักสานหุ้มเซรามิก กระเป๋าถือสุภาพสตรีแบบต่างๆ จากวิสาหกิจชุมชนสานศิลป์บางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น นอกจากนี้ประธานชมรมคนรักไผ่จะเข้าร่วมในการแสดง และจัดจำหน่ายสายพันธุ์ไผ่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากไผ่ การจัดประกวด/แข่งขัน และการแจกพันธุ์ไผ่แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย.

ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

มนัส พุ่มมะปราง ประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะรักษาและสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อไปแบบปลอดภัยและยั่งยืน โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางปฏิบัติ
จากอาชีพครูเปลี่ยนเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าว ทำให้ทราบถึงพิษภัยของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผลผลิต จึงได้หันเหสู่วิถีทางเข้าสู่การเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทำปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิด ทั้งปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และสารสกัดชีวภาพต่างๆ พร้อมกับเข้าร่วมอบรมตามหน่วยงานต่างๆ แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง 20 ไร่ จนประสบความสำเร็จ และปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบของชุมชนชาว ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
คุณมนัสเล่าว่า ครั้งแรกเริ่มจากการปลูกผักโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งผลที่ออกมาก็ถืออยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้สำหรับมือใหม่หัดขับ แต่พอได้ศึกษาและเรียนรู้มากขึ้นผลสำเร็จก็ยิ่งเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลผลิต คุณภาพ สภาพดิน และที่สำคัญต้นทุนการผลิตลดลง ผมจึงได้เกิดแนวคิดที่จะผลักดันและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน โดยได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชนขึ้น ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีกรมพัฒนาที่ดินเป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุน เริ่มดำเนินการก่อตั้งปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับมะละกอนั้นครั้งแรกผมได้เมล็ดพันธุ์มาจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืช เพาะเลี้ยง) จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพันธุ์ปลักไม้ลาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “มะละกอฮอลแลนด์” โดยเริ่มต้นทดลองปลูกไว้ 40 ต้น พร้อมกับเรียนรู้และศึกษาข้อมูลไปในตัว อีกส่วนหนึ่งก็ศึกษาจากตำราบ้าง สอบถามจากผู้รู้บ้าง จนทุกวันนี้เกิดความเชี่ยวชาญและขยายพื้นที่เพาะปลูกออกเป็น 5 ไร่ เน้นทำเกษตรอินทรีย์เต็มร้อย (ไม่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด)
ขั้นตอนการปลูกและการดูแล คุณมนัส บอกว่า พืชจะโตดีให้ผลผลิตดีต้องเริ่มต้นจากการรู้เรื่องดินเตรียมดินที่ถูกต้อง โดยปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์ กรณีที่เป็นดินเสื่อมมากให้ใช้ปุ๋ยพืชสด โดยลงปลูกปอเทือง 45-55 วัน แล้วไถกลบ จากนั้นนำละอองข้าวหรือบางคนก็เรียกว่า คายข้าว และแกลบดำมาใส่ในแปลง อัตราส่วน 8 : 2 แล้วทำการไถกลบไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง เสร็จแล้วทำการยกร่องปลูกขนาด 3 x 3 เมตร ระยะปลูกที่เหมาะสม 2.50x2.50 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ใช้กล้ามะละกอประมาณ 256 ต้น หรือ 3.0x3.0 เมตร
การให้น้ำ มะละกอเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำแฉะและขัง ดังนั้นควรให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือผ่านระบบสปริงเกลอร์ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง หากทำการคลุมดินด้วยฟางได้ก็จะยิ่งดี เนื่องจากจะช่วยรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยหมักเป็นหลัก โดยแต่ละครั้งจะใส่ต้นละ 5-6 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาดต้น หากต้นเล็กก็ใส่น้อย ต้นใหญ่ก็ใส่มากหน่อย) ซึ่งจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เดือนละครั้ง สลับกับการราดน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและน้ำหมักจุลินทรีย์จากปลา (สำหรับน้ำหมักที่จะใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 200) ราดรอบๆ โคนต้นทุกๆ 2-3 อาทิตย์/ครั้ง
สำหรับทางใบ ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เพื่อช่วยป้องกันโรคแมลง ซึ่งจะทำให้มะละกอผิวสวย มีรสชาติดี และต้านทานโรคดีขึ้น ความถี่ในการฉีดพ่นสังเกตจากแมลง หากพบปริมาณมากๆ ก็จะฉีดอาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าน้อยก็อาจเป็น 2-3 อาทิตย์/ครั้ง ช่วงออกดอกเสริมด้วยฮอร์โมนไข่อีกแรง ซึ่งจะช่วยให้ดอกติดดีขึ้น (ผสมอัตราส่วนเท่าเดิม) ฉีดพ่นเดือนละครั้ง สามารถผสมไปพร้อมกับน้ำส้มควันไม้ได้เลย
“หลายคนสงสัยว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพให้แก่พืชนั้นจะได้ธาตุอาหารครบถ้วนหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าครบ เพียงแต่ว่าท่านจะใส่ได้เพียงพอต่อความต้องการของพืชหรือไม่ ซึ่งปริมาณการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะต้องเน้นปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมี” คุณมนัส บอกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ผลผลิตของมะละกอมักจะสะดุดในช่วงเดือนเมษายน คืออากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ดอกเป็นหมัน แล้วต้นก็จะโทรม แม้จะให้น้ำมากขนาดไหนก็ยังสู้ความร้อนแรงของแสงแดดไม่ได้ ดังนั้นผลผลิตในช่วงนี้เราก็จะต้องเว้นระยะไป ช่วงเดือนพฤษภาคมต้นจะเริ่มฟื้นต้น (เริ่มมีฝนมา) และจะกลับคืนสู่สภาพที่ดีได้ในเดือนมิถุนายน
ปริมาณผลผลิตโดยเฉลี่ยตกอยู่ที่วันละ 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะนำไปขายเองที่ตลาดเช้า ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 25 บาท ขายหมดทุกวันเนื่องจากผู้บริโภคให้ความไว้วางใจเรื่องความปลอดภัยและรสชาติที่หวานอร่อยถูกใจ หากช่วงไหนที่มีผลผลิตมากๆ ส่วนหนึ่งจะส่งไปขายที่บึงฉวากด้วย
สุดท้ายนี้คุณมนัสได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ในเบื้องต้นทุกคนรู้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากเห็นผลช้า ไม่ทันใจ หรือต้องเสี่ยงกับความเสียหายของผลผลิต ซึ่งในความเป็นจริง หากผู้ทำที่มีความตั้งใจจริง มีการศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง และมีความพากเพียร ผลสำเร็จก็จะติดตามมาในไม่ช้า ผมว่า ความยากง่ายของการทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ทำเป็นหลัก”
สนใจเยี่ยมชมดูความสำเร็จด้านเกษตรอินทรีย์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มนัส พุ่มมะปราง บ้านเลขที่ 35 ม.9 ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โทร.08-1341-5775.