ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ

เกษตรฯเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ไตรภาคียางพารา” 3 ประเทศ ร่วมเกาะติดสถานการณ์ราคายาง ไทยเตรียมเสนอการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ดีเดย์ 3-7 ส.ค.นี้ ที่ จ.ภูเก็ต

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาความร่วมมือยางพารา 3 ประเทศ(International Rubber Tripartite Council หรือ ITRC) ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานในมาตรการบริหารจัดการการผลิต และการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังมีการประเมินสถานการณ์ราคายางพาราทั้งภายในและต่างประเทศ โดยผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งด้านพื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิต การตลาดและการส่งออก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เตรียมเสนอให้มาเลเซียและอินโดนีเซียพิจารณาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้การผลิตและการตลาดยางพารา เพื่อให้ราคายางสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า ไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา 3 ประเทศ จัดตั้งตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบยางจริง โดยใช้โมเดลของไทยที่มีการซื้อขายยางแบบข้อตกลงล่วงหน้า(Physical Forward contract) ที่ทดลองดำเนินการโดย สำนักตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นต้นแบบ ซึ่งวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นราคาที่แท้จริงในแต่ละช่วงเวลาล่วงหน้า ทั้งยังช่วยประกันความเสี่ยงด้านการผันผวนของราคายางพาราได้ หากทั้ง 3 ประเทศร่วมกันพัฒนาตลาดนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น อนาคตคาดว่าจะสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลกได้

“นอกจากนั้นไทยยังจะเสนอให้ประเทศไตรภาคียางพารา เร่งผลักดันแนวทางการขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมนอกภูมิภาคอาเซียนที่จะมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร เนื่องจากสวนยางเป็นป่าปลูกที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 42 ตันต่อไร่และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงควรขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว/////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น: