ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

มนัส พุ่มมะปราง ประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะรักษาและสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อไปแบบปลอดภัยและยั่งยืน โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางปฏิบัติ
จากอาชีพครูเปลี่ยนเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าว ทำให้ทราบถึงพิษภัยของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผลผลิต จึงได้หันเหสู่วิถีทางเข้าสู่การเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทำปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิด ทั้งปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และสารสกัดชีวภาพต่างๆ พร้อมกับเข้าร่วมอบรมตามหน่วยงานต่างๆ แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง 20 ไร่ จนประสบความสำเร็จ และปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบของชุมชนชาว ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
คุณมนัสเล่าว่า ครั้งแรกเริ่มจากการปลูกผักโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งผลที่ออกมาก็ถืออยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้สำหรับมือใหม่หัดขับ แต่พอได้ศึกษาและเรียนรู้มากขึ้นผลสำเร็จก็ยิ่งเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลผลิต คุณภาพ สภาพดิน และที่สำคัญต้นทุนการผลิตลดลง ผมจึงได้เกิดแนวคิดที่จะผลักดันและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน โดยได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน น้ำ พืช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชนขึ้น ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีกรมพัฒนาที่ดินเป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุน เริ่มดำเนินการก่อตั้งปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับมะละกอนั้นครั้งแรกผมได้เมล็ดพันธุ์มาจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืช เพาะเลี้ยง) จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพันธุ์ปลักไม้ลาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “มะละกอฮอลแลนด์” โดยเริ่มต้นทดลองปลูกไว้ 40 ต้น พร้อมกับเรียนรู้และศึกษาข้อมูลไปในตัว อีกส่วนหนึ่งก็ศึกษาจากตำราบ้าง สอบถามจากผู้รู้บ้าง จนทุกวันนี้เกิดความเชี่ยวชาญและขยายพื้นที่เพาะปลูกออกเป็น 5 ไร่ เน้นทำเกษตรอินทรีย์เต็มร้อย (ไม่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด)
ขั้นตอนการปลูกและการดูแล คุณมนัส บอกว่า พืชจะโตดีให้ผลผลิตดีต้องเริ่มต้นจากการรู้เรื่องดินเตรียมดินที่ถูกต้อง โดยปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์ กรณีที่เป็นดินเสื่อมมากให้ใช้ปุ๋ยพืชสด โดยลงปลูกปอเทือง 45-55 วัน แล้วไถกลบ จากนั้นนำละอองข้าวหรือบางคนก็เรียกว่า คายข้าว และแกลบดำมาใส่ในแปลง อัตราส่วน 8 : 2 แล้วทำการไถกลบไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง เสร็จแล้วทำการยกร่องปลูกขนาด 3 x 3 เมตร ระยะปลูกที่เหมาะสม 2.50x2.50 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ใช้กล้ามะละกอประมาณ 256 ต้น หรือ 3.0x3.0 เมตร
การให้น้ำ มะละกอเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำแฉะและขัง ดังนั้นควรให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือผ่านระบบสปริงเกลอร์ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง หากทำการคลุมดินด้วยฟางได้ก็จะยิ่งดี เนื่องจากจะช่วยรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยหมักเป็นหลัก โดยแต่ละครั้งจะใส่ต้นละ 5-6 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาดต้น หากต้นเล็กก็ใส่น้อย ต้นใหญ่ก็ใส่มากหน่อย) ซึ่งจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เดือนละครั้ง สลับกับการราดน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียวและน้ำหมักจุลินทรีย์จากปลา (สำหรับน้ำหมักที่จะใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 200) ราดรอบๆ โคนต้นทุกๆ 2-3 อาทิตย์/ครั้ง
สำหรับทางใบ ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เพื่อช่วยป้องกันโรคแมลง ซึ่งจะทำให้มะละกอผิวสวย มีรสชาติดี และต้านทานโรคดีขึ้น ความถี่ในการฉีดพ่นสังเกตจากแมลง หากพบปริมาณมากๆ ก็จะฉีดอาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าน้อยก็อาจเป็น 2-3 อาทิตย์/ครั้ง ช่วงออกดอกเสริมด้วยฮอร์โมนไข่อีกแรง ซึ่งจะช่วยให้ดอกติดดีขึ้น (ผสมอัตราส่วนเท่าเดิม) ฉีดพ่นเดือนละครั้ง สามารถผสมไปพร้อมกับน้ำส้มควันไม้ได้เลย
“หลายคนสงสัยว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพให้แก่พืชนั้นจะได้ธาตุอาหารครบถ้วนหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าครบ เพียงแต่ว่าท่านจะใส่ได้เพียงพอต่อความต้องการของพืชหรือไม่ ซึ่งปริมาณการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะต้องเน้นปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมี” คุณมนัส บอกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ผลผลิตของมะละกอมักจะสะดุดในช่วงเดือนเมษายน คืออากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ดอกเป็นหมัน แล้วต้นก็จะโทรม แม้จะให้น้ำมากขนาดไหนก็ยังสู้ความร้อนแรงของแสงแดดไม่ได้ ดังนั้นผลผลิตในช่วงนี้เราก็จะต้องเว้นระยะไป ช่วงเดือนพฤษภาคมต้นจะเริ่มฟื้นต้น (เริ่มมีฝนมา) และจะกลับคืนสู่สภาพที่ดีได้ในเดือนมิถุนายน
ปริมาณผลผลิตโดยเฉลี่ยตกอยู่ที่วันละ 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะนำไปขายเองที่ตลาดเช้า ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 25 บาท ขายหมดทุกวันเนื่องจากผู้บริโภคให้ความไว้วางใจเรื่องความปลอดภัยและรสชาติที่หวานอร่อยถูกใจ หากช่วงไหนที่มีผลผลิตมากๆ ส่วนหนึ่งจะส่งไปขายที่บึงฉวากด้วย
สุดท้ายนี้คุณมนัสได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ในเบื้องต้นทุกคนรู้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากเห็นผลช้า ไม่ทันใจ หรือต้องเสี่ยงกับความเสียหายของผลผลิต ซึ่งในความเป็นจริง หากผู้ทำที่มีความตั้งใจจริง มีการศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง และมีความพากเพียร ผลสำเร็จก็จะติดตามมาในไม่ช้า ผมว่า ความยากง่ายของการทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ทำเป็นหลัก”
สนใจเยี่ยมชมดูความสำเร็จด้านเกษตรอินทรีย์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มนัส พุ่มมะปราง บ้านเลขที่ 35 ม.9 ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โทร.08-1341-5775.

ไม่มีความคิดเห็น: