ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หนุนเกษตรกรไม่ใช้ปุ๋ย-ยา

หนุนเกษตรกรทำนาไม่ใช้ปุ๋ย-ยา
ดึงภูมิปัญญาพื้นบ้านสานสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม

นับตั้งแต่การปฏิวัติสีเขียวในปี พ.ศ.2504 การปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมโดยหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวมุ่งเน้นที่ปริมาณของผลผลิตเพียงอย่างเดียว ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรไทยในอดีตที่เคยพึ่งพาผูกผันอยู่กับธรรมชาติ รูปแบบการผลิตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิต เกษตรกรไทยหันไปยึดติดกับความเชื่อเรื่องการเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยไม่รู้ถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก
มูลนิธิข้าวขวัญ จึงได้จัด “โครงการข้าวเพื่อสุขภาพ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสุขภาพเกษตรกรที่ยั่งยืน” ขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของโครงการก็คือการเปิด “โรงเรียนชาวนา” เพื่อให้เกษตรกรค้นหารากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเป็นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค สังคม วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อันจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า การทำการเกษตรแบบยั่งยืนนั้นมีผลวิจัยออกมาแล้วว่าส่งผลดีต่อทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเพราะยังมีมุมมองต่อความสุขที่ผิดๆ เนื่องจากการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรปลอดสารเคมีต้องอาศัยเป้าหมาย หรือแรงบันดาลใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แรงจูงใจ ไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของความสุขของชีวิตในองค์รวม ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์คนละแบบกับการทำการเกษตรปัจจุบันที่มองแบบแยกส่วนโดยมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าถ้าทำงานได้เงินมากๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นทั้งหมด
“การที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวนาจะต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสองสร้างกระบวนการกลุ่ม ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชาวนา เพราะเราจะทำให้เขาได้รู้ว่าชีวิตก็คือองค์รวม การทำงานกับวิถีชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้จะมีความสุข เพราะหากมีเงินแต่สิ่งแวดล้อมเสียไปก็ทำให้สุขภาพของเราเสียตามไป เมื่ออาหารไม่ดีไม่ปลอดภัยร่างกายของเราก็จะได้รับสิ่งที่ไม่ได้ไปด้วย” นายเดชากล่าว
ล่าสุดทางมูลนิธิข้าวขวัญ และโรงเรียนชาวนา ได้จัดงาน “สืบสานตำนานแม่โพสพกับชาวนา” ขึ้นมาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามที่กำลังสูญหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่ง คุณอนัญญา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยถึงการจัดงานในวันนี้ว่าเป็นการนำเอาความเชื่อเรื่องของพระแม่โพสพมาเชื่อโยงกับการทำนาในปัจจุบันเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับรู้จากการปฏิบัติจริงใน 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง ด้านสังคม ชาวนาจะได้เพื่อนและได้สังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันกลับคืนมา
“ด้านสำคัญที่สุดก็คือ ความคิดและสติปัญญา ซึ่งเขาจะมีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร และสามารถตัดบางสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปได้ถ้าสิ่งนั้นกระทบต่อชีวิตของเขา เพราะปัญหาของชาวนาในปัจจุบันก็คือวิกฤติทางปัญญาที่ส่งผลให้การตัดสินใจและการดำเนินชีวิตผิดพลาดไปหมด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการแก้ไขในเรื่องของปัญญาทำอย่างไรให้วิกฤติทางปัญญาลดลง เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น” คุณอนัญญากล่าว
เช่นเดียวกับ นางสาวโศภิษฏ์ แอบเพชร เกษตรกรจาก ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่พูดถึงการรื้อฟื้นตำนานความเชื่อของพระแม่โพสพว่า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงภูมิปัญญาการปลูกข้าวของคนโบราณที่กำลังสูญหายไป เพราะความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพทำให้ชาวนาเกิดความเคารพในธรรมชาติ ซึ่งเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ทำให้เราไม่ไปทำร้ายทำลายธรรมชาติ
ด้านแกนนำเกษตรกรจากชุมชนบ้านหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นายเบี้ยว ไทลา เล่าว่าในอดีตทำนาใช้ปุ๋ยและยาได้ข้าวเพียง 25-30 ถังต่อไร แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนชาวนาตั้งแต่ปี 2546 ก็หันมาปลูกข้าวแบบลดต้นทุน ไม่ใช้ปุ๋ยและยา ข้าวก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้ข้าว ถึง 56 ถังต่อไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายแค่ไร่ละ 1,700 บาทเท่านั้น
“ทำนาแบบนี้ได้ผลดีจริง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือดินในนาดีกว่าเมื่อก่อนมาก ดินจะร่วนซุยว่าตอนที่ใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อดินร่วนซุยรากก็มีโอกาสหายใจ ต้นข้าวก็แข็งแรง ผลผลิตที่ได้ก็จะเยอะขึ้นตามมา เราก็ได้กินข้าวที่เราปลูกเอง ข้าวก็เป็นข้าวปลอดสารพิษ ที่สำคัญก็คือข้าวที่ปลูกนั้นก็ขายได้ราคาดีกว่าถึงเกวียนละ 16,000 บาท” นายเบี้ยวกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
…เป้าหมายหลักของโรงเรียนชาวนาก็คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการใช้ชีวิตของชาวนา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของชาวนาได้ทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สิน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อใหม่ในเรื่องของการทำนาให้เพิ่มมากขึ้นและหยุดความเชื่อเก่าๆ ชาวนาจึงจะสามารถพึ่งตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี.

ไม่มีความคิดเห็น: