ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พืชพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร

ข้อมูลประกอบการแถลงข่าวกรมวิชาการเกษตร
วันที่ 30 เมษายน 2552
เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 123
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1. สถานการณ์การระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

2. พืชพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร
- อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
- มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
- กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80
- ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80

2. สถานการณ์การระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

3. ผลการประกวดสัญลักษณ์ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร










อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย สามารถใช้ผลิตเป็นน้ำตาลสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามผลผลิตน้ำหนักอ้อย / ไร่โดยเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น ขาดการจัดการไร่อ้อยที่เหมาะสม ปัญหาสภาพดินและน้ำที่อ้อยได้รับในแต่ละแหล่งปลูกต่างกัน จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูก
ปี 2538 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์อ้อยโดยการผสมข้ามพันธุ์อ้อยระหว่างพันธุ์แม่ K 84-200 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 ได้อ้อยโคลน 95-2-156 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตน้ำหนักและน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 และ K-84-200 มีความหวานไม่ต่ำกว่า 12 ซีซีเอส และเหมาะสมสำหรับการปลูกในเขตชลประทาน
ปี 2544 – 2547 ได้นำอ้อยโคลน 95-2-156 ไปปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี
ลักษณะเด่นอ้อยโคลน 95-2-156 ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.23 ตัน / ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 และพันธุ์อู่ทอง 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.63 ตันซีซีเอส / ไร่ ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ยอ้อยปลูก 2.97 ตันซีซีเอส / ไร่
พื้นที่ปลูกแนะนำ ในเขตชลประทาน ดินร่วนและดินเหนียว จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้เสนอขอรับรองพันธุ์อ้อยโคลน 95-2-156 ต่อคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นพันธุ์รับรองในวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยใช้ชื่อ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8
ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้ขยายพันธุ์อ้อยโคลน 95-2-156 จำนวน 15 ไร่ ซึ่งสามารถนำไปปลูกได้ 150 ไร่ในปี 2552








ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3

ปัญหาสภาพฝนแล้งหรือการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูต้นฝน แม้กรมวิชาการเกษตรจะวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดจนได้ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 72 และพันธุ์นครสวรรค์ 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ทนทานต่อสภาพแล้ง แต่ข้าวโพดทั้ง 2 พันธุ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากมีขั้วฝักเหนียว และเก็บเกี่ยวด้วยมือค่อนข้างยาก
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง มีความทนทานแล้ง และสามารถเก็บเกี่ยวด้วยมือได้ง่าย เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้แก่เกษตรกร จนได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 452015 เป็นพันธุ์พ่อ เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวอายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 110 – 115 วัน ได้นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ และทดสอบพันธุ์ในไร่ของเกษตรกรจังหวัดต่างๆ ระหว่างปี 2547 – 2551
ลักษณะเด่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย1,106 กิโลกรัม / ไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 72 และนครสวรรค์ 2 รวมทั้งยังให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมการค้า มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 836 กิโลกรัม / ไร่ และสามารถเก็บเกี่ยวด้วยมือได้ง่าย
พื้นที่ปลูกแนะนำ สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดี
จากการสำรวจความพึงพอใจของเกษตรกรต่อศักยภาพของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 พบว่าเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 90 ให้การยอมรับและชอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในด้านลักษณะความแข็งแรงของต้นกล้า ความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง การเจริญเติบโต และการตรอบสนองต่อปุ๋ย ความทนแล้ง ความแข็งแรงของลำต้น ขนาดของฝัก สีของเมล็ด ขนาดของเมล็ด ผลผลิต และการเก็บเกี่ยวง่าย
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เสนอขอรับรองพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ต่อคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นพันธุ์รับรองในวันที่ 7 เมษายน 2552


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9

ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของโลก มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีประมาณ 6 – 7 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง คือ ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ดินก็เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตผลิตต่อไร่ต่ำ
กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้นเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตแป้งสูงและมีศักยภาพสูงในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ มันเส้น แป้งมัน และเอทานอล จนประสบความสำเร็จได้ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 พันธุ์มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยให้ผลผลิตแป้ง 1.24 ตัน / ไร่ ผลผลิตมันแห้ง 2.11 ตัน / ไร่ และให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์และทุกอายุเก็บเกี่ยว โดยหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 191 ลิตร / หัวสด 1 ตัน เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนให้เอทานอลจำนวน 208 ลิตร / หัวสด 1 ตัน และหากเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 18 เดือนจะให้เอทานอลจำนวน 194 ลิตร / หัวสด 1 ตัน
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ผ่านการประเมินผลผลิตเอทานอลในระดับห้องปฏิบัติการและระดับโรงงานต้นแบบที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในปี 2544 – 2547 โดยผลการทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสดเป็นวัตถุดิบ พบมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าทุกพันธุ์ที่นำไปทดลองเปรียบเทียบ จึงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลและการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมัน
นอกจากนี้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ยังมีลักษณะทรงต้นดี สูงตรง ทำให้ได้ต้นสำหรับทำพันธุ์ยาว ขยายพันธุ์ได้มาก รวมทั้งยังเป็นโรคใบพุ่มน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าให้มีความต้านทานต่อโรคราสนิม ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ H.W 26 / 5 กับพันธุ์ SL 28 โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟประเทศโปรตุเกส ได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี 2503 ซึ่งเมล็ดพันธุ์แต่ละชั่วของการคัดจะถูกส่งไปปลูกที่ประเทศแองโกลา บราซิล โปรตุเกส และไทย กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ผ่านการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2528 – 2544 รวมระยะเวลาในการวิจัย 17 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์ มีลำต้นตั้งตรง ทรงปิรามิด สีผิวผลแก่สีแดง จำนวนเมล็ดต่อน้ำหนัก 100 กรัม ผลผลิต 6.81 กิโลกรัม / ต้น มีคุณภาพสารกาแฟเกรด A 82 – 85 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาเฟอิน 0.42 เปอร์เซ็นต์ อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 173 – 184 วัน
ลักษณะเด่น มีความต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบเฉลี่ย 5 ปี จำนวน 215 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกโดยทั่วไป ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A 81.3 – 87.3 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิมอยู่ในระดับ 6.5 – 7.0 คะแนน (จาก 10 คะแนน)
ปัจจุบันศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ มีแปลงผลิตเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์และขยายพันธุ์รับรองจำนวน 600 ต้น ภายในพื้นที่ 1.5 ไร่สามารถผลิตต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1,200,000 ต้น สำหรับปลูกในพื้นที่จำนวน 3,000 ไร่ / ปี











ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80

ถั่วเขียวผิวดำเป็นพืชที่ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ผลผลิตรวมประมาณ 61,593 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 165 กิโลกรัม / ไร่ ผลผลิตร้อยละ 90 ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งบริโภคถั่วชนิดนี้ในรูปของถั่วงอก จึงต้องการถั่วเขียวผิวดำเกรด 1 เมล็ดมีสีดำ มีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ และไม่มีเชื้อราติดไปกับเมล็ด
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงถั่วเขียวผิวดำให้มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และเหมาะสำหรับเพาะถั่วงอก โดยเริ่มดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2532 – 2546 รวมระยะเวลาการวิจัย 15 ปีได้ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ซึ่งได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ปราจีนบุรี กับ พันธุ์ NBG 5
ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 250 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตถั่วเขียวผิวดำเฉลี่ยทั้งประเทศ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยให้น้ำหนักสดถั่วงอกสูงและรสชาติถั่วงอกหวานกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 มีความกรอบ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเพาะถั่วงอกโดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 ที่สำคัญ ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ยังเป็นพันธุ์ที่ไม่มีขนที่ใบและฝัก ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย เนื่องจากไม่ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นคันซึ่งเป็นลักษณะที่เกษตรกรต้องการ รวมทั้งยังเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูและเหมาะสำหรับปลูกในสภาพการผลิตพืชไร่ทั่วไป
ผลงานวิจัยนี้ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 85 กิโลกรัม / ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,700 – 2,125 บาท / ไร่ รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการเพาะถั่วงอกมีรายได้เพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 445 ล้านบาท และปริมาณถั่วงอกมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพที่มีการบริโภคถั่วงอกวันละ 200 ตัน
ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550







สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรียและบราซิล ในขณะที่เป็นประเทศที่ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุด การปลูกมันสำปะหลังในอดีตไม่พบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานและปรับตัวได้ดี แต่จากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันทำให้เริ่มประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช ซึ่งเดิมอาจจะพบอยู่แล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ
ต้นปี 2551 พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังจำนวน 2 ชนิด ชนิดแรก คือเพลี้ยแป้งลาย ซึ่งพบระบาดทั่วไปแต่ยังไม่เคยสร้างปัญหารุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ส่วนเพลี้ยแป้งอีกชนิดหนึ่งไม่เคยมีรายงานพบการระบาดในมันสำปะหลังมาก่อน แต่พบการทำลายเสียหายรุนแรงกว่าชนิดแรก
เดือนเมษายน 2551 เกษตรกรได้แจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลังที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังปัจจุบันพบการระบาดมีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา และกำแพงเพชร โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาพบมีพื้นที่การระบาดมากที่สุดประมาณ 300,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้รับการแจ้งจากเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรีว่าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งแต่สถานการณ์ยังอยู่ในขั้นไม่รุนแรง
สาเหตุการระบาดของเพลี้ยแป้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดขยายวงกว้างขึ้นเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกและมีการใช้ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์ จากนั้นหลังปลูกจะมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่ต้นมันสำปะหลังอื่นและแปลงข้างเคียง
มีรายงานว่าในประเทศแถบอัฟริกาและอเมริกาใต้การระบาดของเพลี้ยแป้งทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง 20 – 80 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของประเทศไทยพบว่าในหลายพื้นที่ที่พบการระบาดขณะต้นยังเล็กมีความรุนแรงจนต้องไถทิ้งและปลูกใหม่แต่ก็ยังระบาดซ้ำอีก เนื่องจากยังมี เพลี้ยแป้งอยู่บนเศษซากต้น และมีการระบาดที่แปลงข้างเคียง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ต้องใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 500 ต้นรวมทั้งเกษตรกรต้องพ่นสารกำจัดแมลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งค่าสารป้องกันแมลงและค่าแรงงานพ่น
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลต้องใช้วิธีการผสมผสาน ดังนี้
1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล
- ควรมีการไถและพรวนดินหลายๆ ครั้งและตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้ง
- ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง
- คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง และควรใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ
- แหล่งที่ยังไม่พบการระบาด ควรมีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์
- ถอนต้นหรือตัดส่วนของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลงแล้วเผาหรือทำลาย
2. การใช้ชีววิธี เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส
3. การใช้สารฆ่าแมลง ควรใช้เมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งรุนแรงเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลง ควรพ่นเฉพาะบริเวณที่พบเพลี้ยแป้ง ระยะพ่นที่เหมาะสม คือ ช่วงที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1 – 2
สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่
- ไทอะมีโทแซม 25 %WG อัตรา 4 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
- ไดโนทีฟูเรน 10%WP อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
- โปรไทโอฟอส 50%EC อัตรา 50 มล. / น้ำ 20 ลิตร
- พิริมิฟอสเมทิล 50%EC อัตรา 50 มล. / น้ำ 20 ลิตร
- ไทอะมีโทแซม / แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7%ZC อัตรา 10 มล. / น้ำ 20 ลิตร









การประกวดสัญลักษณ์ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร

วันที่ 1 ตุลาคม 2515 กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาให้เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาพันธุ์พืช และเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ผลิตผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเพื่อเผยแพร่ผลงาน ภารกิจ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรให้สาธารณชนได้รับทราบ กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดให้มีการประกวดสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตรในปี 2552 เพื่อคัดเลือกผลงานการออกแบบสัญลักษณ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับการจัดงานและใช้ในสื่อต่างๆ ที่จะจัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้รางวัลสำหรับผลงานที่ชนะการประกวดมี 1 รางวัลเป็นเงินสดจำนวน 30,000 บาท
จากการเปิดรับสมัครผลงานที่ส่งเข้าประกวดระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2552 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรวมจำนวน 76 ผลงาน
ผลการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานของ นายบำรุง อิศรกุล เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ความหมายของสัญลักษณ์
เลข 36 หมายถึง 36 ปีกรมวิชาการเกษตร
ใบไม้ แสดงถึงความความเจริญเติบโตของหน่วยงาน เปรียบเสมือนพืชที่กำลังชูช่อออกดอกใบ
สีเขียว เป็นสีแทนพืชพรรณ หมายถึงการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น: