ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไม่เผาฟางข้าว







เจจีซีแนะเปลี่ยน “มลพิษ” ให้เป็น “เงิน”
เลิกเผา“ฟางข้าว” สร้าง “พลังงานทดแทน

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)
.......................................................................................................................................................
นักศึกษา JGSEE แนะเลิกเผาฟางข้าว เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน เสนอใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตความร้อนในโรงงานดีที่สุด ชี้คุ้มทุนหากผู้ประกอบการส่งรถซื้อฟางข้าวจากนาโดยตรง ระบุได้ประโยชน์สองต่อสร้างรายได้เกษตรกร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถจะยื่นขอคาร์บอนเครดิตและขายกับประเทศที่มีพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การตกลงในพิธีสารเกียวโต และเชื่อฟางข้าวจะเป็นชีวมวลทางเลือกใหม่ ใช้เสริมแกลบและกากอ้อยในภาวะขาดตลาด
.......................................................................................................................................................
ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรในการทำนา คือการจัดการกับฟางข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งแม้ปัจจุบันฟางข้าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชนได้หลากหลาย เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่ด้วยภาวะเร่งรัดในการทำนาครั้งต่อไป การเผาฟางจึงกลายเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด แม้ว่าเกษตรเองจะไม่อยากเผาฟางก็ตาม หากแต่ว่าผลกระทบที่ตามมานั้นไม่เพียงความร้อนที่เกิดจากการเผาจะทำลายธาตุอาหารในดิน และได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดีแล้ว การเผาฟางยังเป็นการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าพื้นที่ที่มีการเผาฟางข้าวมากที่สุดในประเทศไทยมีถึง 13 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น
น.ส.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางหนึ่งในการจัดการฟางข้าวที่น่าสนใจ คือการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยการสนับสนุนของภาครัฐในการใช้ชีวมวลเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ฟางข้าว(rice straw) และฟางข้าวสาสี(wheat straw)เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำในการผลิตความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำบ้างแล้ว เช่น ประเทศเดนมาร์ก อังกฤษ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีความพยายามในการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานมากแต่ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากฟางข้าว เป็นชีวมวลที่มีค่าความร้อนต่ำ อีกทั้งยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว และมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมที่กำลังใช้กันอยู่ เช่น แกลบ เศษไม้ เปลือกปาล์ม ส่งผลให้ฟางข้าวกว่า 50 %ต้องถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นเพื่อหาเทคโนโลยีที่นำฟางข้าวไปใช้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์ที่ได้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุน อันจะช่วยหยุดสร้างมลพิษจากการเผาฟาง และได้แหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น จึงได้ศึกษานโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทย ด้วยการประเมินความเป็นไปได้ใน 4 ด้าน คือ 1. ศักยภาพของทรัพยากรที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง 2. ความเหมาะสมของประเภทและขนาดของเทคโนโลยีกับศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ 3.ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ของผู้ลงทุนและสังคมรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และ 4. สิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนวทางของนโยบายที่ภาครัฐควรจะสนับสนุน
“ผลจากการประเมินพบว่า ฟางข้าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ด้วยการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมในโรงงานจะมีศักยภาพมากว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า และเสนอให้รัฐสนับสนุนการใช้ฟางโดยการให้เงินสนับสนุนต่อปริมาณฟางที่ใช้ 300-340 บาทต่อกิโลกรัม(แทนที่จะสนับสนุนต่อหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฯ) เพื่อเปิดโอกาสให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆด้วย ซึ่งเงินสนับสนุนนี้คำนวณโดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องจ่ายหากเราหยุดเผาฟางได้
สำหรับการนำไปใช้ก็สามารถทำได้ทันที เพราะในภาคกลางยังมีโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน สำหรับหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นถ่านหินผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนมาใช้ฟางข้าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นน้ำมันเตาก็เปลี่ยนเพียงหัวเตาเท่านั้น ในส่วนการประเมินความคุ้มทุนนั้นพบว่า ฟางข้าวจะต้องมีราคาต่ำกว่า 860 บาทต่อตัน ซึ่งวิธีการลดต้นทุนที่ทำได้เลยในขณะนี้คือ ให้เกษตรเก็บฟางข้าวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมไว้ข้างนา โดยอัดให้แน่น(ประมาณ 18-20 กก.ต่อฟ่อน) ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว จากนั้นผู้ประกอบการส่งรถพ่วง 2 ตอน มารับซื้อจากนาโดยตรง และเตรียมความพร้อมของฟางก่อนป้อนเข้าเตาเผาด้วยการสับให้ชิ้นเล็กลง ส่วนในอนาคตเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรเก็บฟางข้าวให้อยู่ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ทันที่ทุ่งนา เพื่อให้บรรทุกได้ในปริมาณมากขึ้นในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนเที่ยวและประหยัดค่าการขนส่งแล้ว ยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ทันทีโดยไม่ต้องสับ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐในการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อไป ”
น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า การใช้ฟางเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากจะช่วยให้หยุด ”มลพิษทางอากาศ” ได้แล้ว ยังได้ “พลังงาน” และ “ลดโลกร้อน” ด้วย ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตรงนี้ จะนำไปขายกับประเทศที่มีพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การตกลงในพิธีสารเกียวโต โดยปัจจุบันในตลาดโลกมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) บ้างแล้วในหลายประเทศ โดยภาครัฐควรมีการสนับสนุนโครงการCDM เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วย
อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัจจุบันโรงสีข้าวและโรงน้ำตาลเริ่มนำแกลบและกากอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดย่อมของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ชีวมวลเหล่านี้เริ่มมีราคาแพงและขาดแคลนมากขึ้น ดังนั้นชีวมวลที่ไม่ได้ใช้ทั้ง ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย ลำต้นข้าวโพด ล้วนเป็นชีวมวลทางเลือกใหม่ ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาวะขาดแคลนพลังงานในอนาคต
//////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก