ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“หนอนหัวดำ”.. ศัตรูพืชมะพร้าวชนิดใหม่

“หนอนหัวดำ”.. ศัตรูพืชมะพร้าวชนิดใหม่

ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของ “แมลงดำหนาม” ในแหล่งปลูกมะพร้าวของไทยกำลังเบาบางลง ชาวสวนมะพร้าวกลับต้องผจญและต่อสู้กับศัตรูพืชชนิดใหม่ คือ “หนอนหัวดำ” ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายรุนแรงมากกว่าแมลงดำหนาม ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำเข้าทำลายจะยืนต้นแห้งตาย นับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องควบคุมและกำจัดอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้าง... และลุกลามไปสู่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทั้งกล้วย หมาก และปาล์มประดับ เป็นต้น
นางอัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หนอนหัวดำมะพร้าวหรือ Coconut Black-headed caterpillar มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Opisina arenosella Walker เดิมเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของมะพร้าวในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และยังมีรายงานพบหนอนชนิดนี้ในอินโดนีเซีย พม่า บังคลาเทศ และปากีสถานด้วย โดยตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน มีลักษณะลำตัวแบน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาวประมาณ 1-1.2 ซ.ม. ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าวหรือในที่ร่ม
ผีเสื้อเพศเมียจะเริ่มวางไข่ 3 วันหลังออกจากดักแด้ และวางไข่ทุกวันติดต่อกันไป 4-6 วัน โดยสามารถวางไข่ได้ตัวละ 157-490 ฟอง มีระยะไข่ 5-6 วัน ระยะหนอน 32-48 วัน มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง ระยะดักแด้ 9-11 วัน แล้วเข้าสู่ตัวเต็มวัยผีเสื้อมีอายุ 5-11 วัน
สำหรับการเข้าทำลายต้นมะพร้าวนั้น เมื่อตัวหนอนหัวดำฟักออกจากไข่ใหม่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว ปกติมักพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน จากนั้นตัวหนอนจะสร้างใยผสมกับมูลทำเป็นอุโมงค์ยาวคล้ายทางเดินของปลวกคลุมเส้นทางที่หนอนแทะกินผิวใบยาวตามทางใบมะพร้าว และอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้น การทำลายส่วนใหญ่พบบนใบแก่ โดยใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลายอย่างหนักจะยืนต้นแห้งตาย แล้วหนอนหัวดำจะเคลื่อนย้ายไปทำลายมะพร้าวต้นใหม่ต่อไป
ปัจจุบันหนอนหัวดำมะพร้าวได้แพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกมะพร้าวของไทยกระจายในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ สวนมะพร้าวของเกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีกว่า 20 ไร่ สวนมะพร้าวศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จำนวนกว่า 100 ไร่ และพบการระบาดในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ขณะเดียวกันยังพบหนอนหัวดำระบาดทำลายต้นตาลในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ไม่น้อยกว่า 6,000 ต้น ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และเริ่มพบต้นตาลในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเพชรบุรีถูกหนอนหัวดำทำลายแล้วด้วย
นอกจากหนอนหัวดำจะระบาดทำลายมะพร้าวและต้นตาลแล้ว ยังมีพืชอาหารอีกหลายชนิด อาทิ หมาก กล้วย และปาล์มประดับ ได้แก่ ตาลฟ้า อินทะผลัม ปาล์มแวกซ์ หมากนวล หมากเขียว หมากแดง และจั่ง เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรจึงควรติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะชาวสวนกล้วยทั้งกล้วยหอมทอง และกล้วยไข่ที่ผลิตเพื่อการส่งออกควรต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และที่น่าเป็นห่วงก็ คือ ตาลในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจถูกทำลายได้
วีธีการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เบื้องต้นเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวต้องหมั่นสังเกตต้นมะพร้าวในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบหนอนหัวดำต้องตัดเก็บและเผาใบที่ถูกทำลายทิ้ง กรณีที่พบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงไพรีทรอยส์โดยใช้ความเข้มข้นตามคำแนะนำในฉลาก แต่ผู้ฉีดพ่นต้องสวมใส่ชุดป้องกันอันตรายจากสารเคมีเนื่องจากเป็นสารเคมีฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวโดยชีววิธีซึ่งมีศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น แตนเบียนไข่ แตนบียนหนอน และแตนเบียนดักแด้ รวมทั้งเชื้อราด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “หนอนหัวดำมะพร้าว” สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักชาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-7580 ทุกวันในเวลาราชการ.

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก