ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน” อาหารชุมชน

“ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน” อาหารชุมชน
“มูลมังอีสาน”พึ่งตนแบบพอเพียง

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร ดำเนินงาน “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเอง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง “การส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
นางสาวชลิตา ศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของโครงการฯ เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็น “มูลมัง” หรือมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป ชาวนาไม่สามารถที่จะสืบต่อวิธีการรักษาเมล็ดพันธุ์ของชุมชนดั้งเดิมที่มีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้เครื่องนวดข้าวก็ทำให้คุณภาพของข้าวที่จะเป็นต้นพันธุ์ลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย
“ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซื้อพันธุ์ข้าว 2-3 ปีต่อหนึ่งครั้งทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยการผลิต ซึ่งแต่เดิมชาวนาจะมีข้าวกินแต่ละครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยวิถีของการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นการปลูกและกินข้าวพันธุ์เดียวต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ มีชาวนาป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งก็มาจากการกินข้าวเพียงพันธุ์เดียว ประกอบกับพืชอาหารท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลง การซื้อหาจากข้างนอกก็ไม่ปลอดภัยเพราะเต็มไปด้วยสารเคมี และยังเป็นการเพิ่มค่าครองชีพ แต่ถ้าชาวนาสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์เอง คัดเลือกเอง ปลูกและกินข้าวของตัวเอง ก็จะทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้” นางสาวชลิตาระบุ
นายไพบูลย์ ภาระวงศ์ หรือ “พ่อบูลย์” อายุ 54 ปี เกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำนาไปเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เล่าว่า ปัจจุบันปลูกข้าวพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีและที่อื่นๆรวม 10 สายพันธุ์ได้แก่ มะลิแดง, มะลิดำ, หอมเสงี่ยม, สันป่าตอง, หอมพม่า, ข้าวเหนียวแดง, แสนสบาย, ยืนกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวอุบล และนางนวล ซึ่งข้าวพื้นบ้านจะให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์ กข. ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยา เพราะทนทานต่อโรค และขยายพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเองโดยไม่ต้องซื้อโดยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัตถุดิบต่างๆ ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ
นายสี ทอนไสระ หรือ “พ่อสี” อายุ 58 ปี แกนนำเกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน กล่าวว่าทุกวันนี้หันกลับมาทำการเกษตรย้อนยุคเหมือนอย่างที่ปู่ย่าตายาได้ทำมาในอดีต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ผลผลิตก็มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในที่นา 6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านถึง 20 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าเข้าพันธุ์พื้นบ้านหลายๆ สายพันธุ์มีเมล็ดข้าวขนาดใหญ่กว่า น้ำหนักก็มากกว่าเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง และที่เหลือจะใช้เพื่อคัดเลือกและขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
“ข้าวนาปีก็จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ เก็บเอาไว้กินเอง ส่วนนาปรังก็จะปลูกข้าวพันธุ์อายุสั้นเพื่อขาย ซึ่งข้าวที่ได้จะนำมารวมกันก่อนนำไปสีหรือเพื่อให้เกิดการคละสายพันธุ์ข้าวและคงคุณค่าทางอาหารของข้าวไว้ให้ได้มากสุด ทำให้สุขภาพของเราเองก็ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง ทุกวันนี้เรากินข้าวที่มีแต่แป้ง แต่ไม่ได้กินวิตามินหรือสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ของข้าว ข้าวพันธุ์พื้นบ้านอย่างหอมมะลิแดง ข้าวหอมสามกอ ข้าวมันเป็ด หรือข้าวเหนียวอุบล มีน้ำตาลต่ำวิตามินสูง ช่วยป้องกันโรคเบาหวานและรักษาโรคความดันได้” พ่อสีเล่าถึงข้อดีของข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูก
“จากการทดลองพบว่า ข้าวหอมเสงี่ยม และข้าวอีดำด่าง เป็นข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนี้มากที่สุด สามารถปลูกแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย แต่ก็ได้ข้าวเยอะถึง 360 เมล็ดต่อ 1 ต้น และมีน้ำหนักดี ที่สำคัญยังทนต่อโรคและภัยธรรมชาติ ทุกวันนี้ข้าวพื้นบ้านที่ปลูกมีคนมาสั่งซื้อชนิดที่เรียกว่ามีไหร่เอาหมด” พ่อสีกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ.

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก