ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เร่งศึกษาระบบประกันภัยพืชผลนำร่องใน ‘ข้าว’

เร่งศึกษาระบบประกันภัยพืชผลนำร่องใน ‘ข้าว’...หวังป้องกันความเสี่ยงด้านการผลิตให้เกษตรกร

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันก่อให้เกิดความเสียหายทางการเกษตรอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติทั้งอุทกภัยและภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากภัยดังกล่าวและไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่สูญเสียไป ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติ สำหรับการผลิตข้าว โดยศึกษาอัตราเบี้ยประกัน วงเงินคุ้มครอง รูปแบบหรือเกณฑ์การประเมินความเสียหาย และการบริหารจัดการการรับประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้ศึกษาการรับประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าวนาปีแบบเสมือนจริง คือ มีการดำเนินการเหมือนการรับประกันภัยจริงทุกประการ แต่ยังไม่มีการเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากเกษตรกรและไม่มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยนำสถิติการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งตั้งแต่ปี 2547-2551 ของแต่ละจังหวัดที่ศึกษามาคำนวณหาโอกาสเกิดภัย เพื่อนำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และกำหนดวงเงินคุ้มครองในระดับต้นทุนการผลิต โดยการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรให้เป็นไปตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าวในช่วงที่ข้าวได้รับความเสียหาย สำหรับการประเมินความเสียหายนั้นจะประเมินโดยให้คณะกรรมการประเมินความเสียหายในระดับท้องถิ่นลงสำรวจแปลง และตรวจสอบว่าเกษตรกรรายนั้นจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร
สำหรับการประกันภัยทางการเกษตรในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ซึ่งรับประกันภัยพืชเกือบทุกชนิด และคุ้มครองภัยธรรมชาติทุกภัย ยกเว้นญี่ปุ่นจะคุ้มครองทั้งโรคพืช แมลง และสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ ด้วย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะนิยมใช้ดัชนีผลผลิตของเขตพื้นที่ หรือประกันรายได้ ในการประเมินความเสียหาย ส่วนประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยนิยมใช้ดัชนีภูมิอากาศในการประเมินความเสียหาย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในการบริหารจัดการประกันภัยทางการเกษตรทุกประเทศจะมีกฎหมายรับรองและกำหนดแนวทางการประกันภัย ส่วนใหญ่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้วางนโยบายประกันภัยพืชผล ออกพระราชบัญญัติประกันภัยพืชผล จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่รับประกันภัยโดยเฉพาะและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดการตัวแทนประกันภัย ดูแลจัดการโครงการที่ได้รับจากสถาบันการเงิน ดูแลเงินค่าชดเชยในแต่ละพืช แต่ละพื้นที่ และจ่ายเงินค่าชดเชย เป็นต้น
อนึ่ง เพื่อให้การประกันภัยทางการเกษตรสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ทั้งสนับสนุนเต็มจำนวนหรือเป็นบางส่วนประมาณ 20-50% ของค่าเบี้ยประกัน เพื่อ จูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยและไม่เป็นภาระในการเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความสนใจเรื่องการประกันภัยทางการเกษตร เนื่องจากยังไม่เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการประกันภัยทางการเกษตร ดังนั้น จึงควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการประกันภัยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ซึ่งการประกันภัยนั้นไม่ได้หมายถึงการป้องกันไม่ให้เกิดภัย แต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนลงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตร
************************************
อัจฉรา : ข่าว
ธันวาคม 2552
E-mail : agritech71@doae.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก