ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว

คณะเกษตรฯ มข. บูรณาการงานวิจัย ใช้น้ำส้มควันไม้เป็นปุ๋ยให้กับนาข้าว เพิ่มผลผลิตไร่ละ 50 ถึง 80 ก.ก.

ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายงานว่า น้ำส้มควันไม้ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบได้ เหตุนี้ คณะผู้วิจัย จึงได้นำมาทดลองใช้กับข้าว ประมาณ 4 ถึง 5 ปีมาแล้ว โดยที่ น้ำส้มควันไม้มีกรดอินทรีย์ถึง 200 ชนิด บางชนิดก็เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการงอกของเมล็ด
ตลอดจนกระตุ้นการแตกกอของข้าวด้วย ดังนั้น ก่อนการหว่านข้าวกล้าทั้งข้าวนาดำและข้าวนาหว่าน ใช้วิธีแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในสารละลายน้ำส้มควันไม้ เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 2 วัน หลังจากข้าวเติบโตตั้งตัวแล้ว ใช้น้ำส้มควันไม้ ที่เจอจาง300 เท่าเช่นกัน ฉีดพ่นทางใบ ทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่ง 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว ในพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ก็เนื่องจาก ข้าวมีการแตกกอมากขึ้น เมล็ดต่อรวงมากขึ้น น้ำหนักเมล็ดก็เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการศึกษาการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะการใช้เป็นสารแช่เมล็ด ใช้เป็นปุ๋ยทางใบในพืชหลายชนิดและใช้ในการควบคุมเชื้อราในดิน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัย ประเภทเงินทุนอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยผลจากการศึกษาต่อเนื่องในข้าวเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
สามารถยืนยันผลได้ว่าการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะสารแช่เมล็ดจะทำให้ต้นกล้าข้าวตั้งตัวและพัฒนาได้ดี และการใช้ในลักษณะปุ๋ยทางใบก็สามารถเพิ่มผลผลิตของข้าวได้โดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น จึงได้มีการขยายผลการวิจัยในการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำนา
โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง เพราะน้ำส้มควันไม้สามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย ทำให้ได้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร. ดรุณี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้มีความยั่งยืนในการปฏิบัติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการใช้น้ำส้มควันไม้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น คณะเกษตร มข.จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น
จัดโครงการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการใช้น้ำส้มควันไม้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รุ่นที่ 1 บ้านท่าพระทราย ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยคาดหวังว่าหากเกษตรกรมีการทำเตาเผาขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง จะให้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“น้ำส้มควันไม้มีคุณสมบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี ทำให้ผู้ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีด้วย การฝึกอบรมในครั้งนี้ยังเป็นการฝึกให้รู้จักการทำเตาเผาส่วนรวมที่ใช้ภายในหมู่บ้าน ที่สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ ที่จะใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ทำให้ได้ถ่านจากการเผาไว้ใช้ ซึ่งเป็นพลังงานชีวมวล
ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนในเรื่องของพลังงาน”ผศ.ดร. ดรุณี กล่าว
สำหรับ น้ำส้มควันไม้ เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้สดผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และรวมตัวเป็นของเหลว น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆมากกว่า 200 ชนิด สารประกอบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ 85 % กรดอินทรีย์ประมาณ 3 % และสารอินทรีย์อื่นๆอีกประมาณ 12 %
ซึ่งกรดอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำส้มควันไม้มีหลายชนิด ที่สำคัญ คือ กรดอะซิติก (acetic acid), กรดฟอร์มิค(กรดมด), ฟอร์มาลดิไฮด์ (formaldehyde), เอธิล เอ็น วาเลอเรต (ethyl-n-valerate), เมทธานอล (methanol), น้ำมันทาร์ (tar) อะซีโตน(acetone) และฟีนอล(phenol) ฯลฯ สารประกอบที่สำคัญในน้ำส้มควันไม้ (Wood Vinegar) มีรายละเอียดดังนี้ 1.กรดอะซิตริก(กรดน้ำส้ม) เป็นสารกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
และเชื้อไวรัส 2.สารประกอบฟีนอล เป็นสารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสารฆ่าแมลงใช้ล้างแผล ทำยาจำพวกแอสไพริน และทำวัตถุหลอมเหลว 3.ฟอร์มัลดีไฮด เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และแมลงศัตรูพืช 4.เอธิล เอ็น วาเลอเรด เป็นสารในกลุ่มเร่งการเจริญเติบโตของพืช 5.เมธานอล แอลกอฮอล์ที่ดื่มกินไม่ได้ (หากเข้าตาจะทำให้ตาบอด)
เร่งการงอกของเมล็ดและราก ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้และเป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคมีเรีย และเชื้อไวรัส 6.อะซีโตน สารละลายวัตถุ ใช้ทำน้ำยาทาเล็บและเป็นสารเสพติด 7.น้ำมันทาร์ เป็นสารจับใบช่วยลดการใช้สารเคมี

ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร สาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.043-342949 ต่อ 14 โทรสาร 043-364636

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก