ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม”

เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม”
เกษตรฯปรับระบบตรวจรับรองฟาร์มพืช “แบบกลุ่ม” นำร่อง 10 จังหวัด สร้างโอกาสเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น พร้อมขยายฐานแหล่งผลิตสินค้าพืชผักผลไม้คุณภาพป้อนตลาดโลก ขณะที่ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันร้องขอแปลง GAP ด้วย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้เร่งพัฒนาแหล่งผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยตามนโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหารหรือฟู้ดเซฟตี้(Food Safety) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจรับรองแหล่งปลูกพืชตามระบบปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) โดยมีแปลงที่ผ่านการตรวจและได้รับการรับรองเครื่องหมายสัญลักษณ์ Q แล้วจำนวนทั้งสิ้น 211,784 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1,354,212.97 ไร่ จากที่จดทะเบียนไว้ จำนวน 341,532 แปลง พื้นที่ปลูก 2,529,891.14 ไร่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายฐานแหล่งผลิตพืชที่มีคุณภาพและปลอดภัยของไทย ให้เป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น และพร้อมรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) และกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการรับรองฟาร์มมาตรฐานระบบกลุ่ม(Group Certifications)ขึ้น โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา สงขลา พัทลุง ขอนแก่น นครราชสีมา ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา และชุมพร มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก กล้วยไข่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ข่า กล้วยไม้ และกาแฟ เข้าร่วมโครงการฯในเบื้องต้นรวม 12 กลุ่ม เกษตรกรไม่น้อยกว่า 360 ราย
“เดิมกระทรวงเกษตรฯได้ตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP เป็นรายฟาร์ม ทำให้การรับรองแหล่งผลิตสินค้าพืชทำได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองแปลงมีจำนวนจำกัดขณะที่ต้องเร่งตรวจต่ออายุใบรับรองแปลง GAP เดิม และต้องตรวจรับรองแปลงใหม่ด้วย การจัดทำระบบตรวจรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม จะสามารถช่วยขยายผลและเพิ่มจำนวนแปลงปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาระภาครัฐในการตรวจรับรองแปลงอีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
นายวัชรินทร์ อุปนิสากร หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งพัฒนาศักภยาพเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองแปลงแบบกลุ่ม เป้าหมายไม่น้อยกว่า 200 ราย พร้อมส่งเสริมให้มีการสร้างหน่วยตรวจรับรอง(CB)ของเอกชนด้านการตรวจรับรองฟาร์ม GAP เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโครงการฟาร์มมาตรฐานระบบกลุ่มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
“ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนกว่า 2,000 แปลง มีความสนใจและต้องการที่จะนำแปลงปลูกเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเริ่มให้ความสำคัญกับผลผลิตที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานมากขึ้น สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฯจึงได้เร่งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ GAP ปาล์มน้ำมัน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาประกาศใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและผู้ตรวจประเมินแปลง GAP ปาล์มน้ำมันด้วย” นายวัชรินทร์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก