ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สมองอักเสบจากค้างคาวแม่ไก่

นักวิชาการจุฬาฯ เตือนสมองอักเสบ
ติดเชื้อไวรัสนิปาห์จากค้างคาวแม่ไก่

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มเห็นชัดขึ้นทุกขณะ ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน พายุฝนและไต้ฝุ่นที่รุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินไหว และโรคติดต่อที่ทวีความรุนแรง ซึ่งต้นตอของโรคอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าจะก่อปัญหาให้กับชาวโลกในอนาคต โดยไม่ต่ำกว่าครึ่งทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยตรงหรือสัตว์เป็นตัวเก็บกักโรคหรือเพาะโรค โดยมียุง แมลง เห็บ ริ้น ไร เป็นพาหะ ดังเช่นโรคชิกุนคุนยาที่แพร่ระบาดทางภาคใต้ของไทยเมื่อไม่นานมานี้
ค้างคาวเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม หลังมีการสำรวจและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับกับโรคใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี นักวิชาการประจำศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาโรคสมองอักเสบอุบัติใหม่ที่เกิดจากไวรัสนิปาห์ในค้างคาวไทย” จากการสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้แถลงในงานเสวนาทางวิชาการ “โลกร้อน โรคร้าย โรคติดต่อที่ต้องติดตาม” ว่ากลไกการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์จากค้างคาวอาจเกิดในฤดูกาลเช่นเดียวกับฤดูกาลระบาดในคน
ไวรัสนิปาห์ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดต่อของเชื้อไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคที่ประเทศบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 70 ทั้งนี้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนิปาห์จะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบ โดยอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ร่วมด้วย
ส่วนอาการป่วยในสุกรหลังหย่านมเเละสุกรขุนจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับอาการทางระบบหายใจ คือ หายใจเร็ว หอบกระเเทก ไอเสียงดัง ”one-mile” cough ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสุกรขุน ในรายที่รุนเเรงพบว่ามีมูกปนเลือดออกทางโพรงจมูก ในรายที่ไม่รุนเเรงจะพบสุกรการหายใจทางปาก และมีอาการทางประสาทร่วมด้วยตัวสั่น หัวตก กัดคอก เคี้ยวฟัน กล้ามเนื้อกระตุก ขาหลังไม่มีเเรง โดยในพ่อแม่พันธุ์พบว่ามีการตายอย่างกระทันหัน หรือมีไข้สูงชนิดเฉียบพลันร่วมกับหายใจหอบกระเเทก มีน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำมูกปนเลือด มีอาการทางประสาท ยืนโงนเงน หัวพิงคอก ชักกระตุก ปากเเข็ง คอเเข็ง ในเเม่พันธุ์มักพบมีการเเท้งร่วมด้วยอัตราการติดเชื้ออาจสูงถึง 80% แต่อัตราการตายต่ำ (<1 - 5%)
จากการศึกษาความสัมพันธ์ของการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์ในค้างคาวแม่ไก่กับฤดูกาลของ ดร.สุภาภรณ์และคณะ โดยเก็บตัวอย่างเยี่ยวค้างคาวในพื้นที่ศึกษา รวม 7 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แล้วนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีทางอณูชีววิทยา พบเชื้อไวรัสนิปาห์ในทุกพื้นที่ศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน และพบมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม โดยเชื้อที่พบมี 2 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในมาเลเซียและบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฤดูผสมพันธุ์ ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลผสมพันธุ์ที่พบลูกค้างคาวหัดบิน
นับเป็นการค้นพบกลไกการแพร่เชื้อไวรัสในค้างคาวครั้งแรกของโลกที่ยืนยันว่าเชื้อไวรัสนิปาห์แพร่กระจายจากเยี่ยวค้างคาวเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไวรัสนิปาห์ได้เช่นกัน หากคนสัมผัสกับเยี่ยวหรือน้ำลายค้างคาวโดยตรง หรือสุกรได้รับเชื้อจากสิ่งคัดหลั่งของค้างคาวและแพร่มาสู่คน อย่างไรก็ตามข้อมูลการค้นพบฤดูกาลแพร่เชื้อจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ ดร.ไสว วังหงษา นักวิชาการจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าค้างคาวแม่ไก่ในที่ราบภาคกลางมีประมาณ 40,000 ตัว ในพื้นที่ 16 แห่ง รวมทั้งเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ส่วนพื้นที่ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ รวมทั้งแหล่งอุตสาหกรรมและพื้นที่เลี้ยงสุกรในเขตจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา เนื่องจากปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบเชื้อไวรัสนิปาห์ในหมู่คนไทยรวมทั้งในสุกร จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เป็นประจำทุกปี แต่เมื่อมีการค้นพบเชื้อดังกล่าวในค้างคาว ย่อมเป็นสัญญาณเตือนให้คนไทยควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดที่รักษาได้ผลโดยตรง โดยพบว่ามีเพียงการใช้ยาต้านไวรัสไรบาวิริน (Ribavirin) รักษาในช่วงต้นของการติดเชื้อเท่านั้น
ทั้งนี้หากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากค้างคาว ได้แก่ เยี่ยว น้ำลาย เลือด หรืออวัยวะภายใน รวมทั้งถูกค้างคาวกัดหรือข่วนจะต้องรีบล้างส่วนที่สัมผัสด้วยน้ำสบู่นาน 10-15 นาที หากมีแผลในบริเวณที่สัมผัสหรือถูกค้างคาวกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ 10-15 นาที แล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เช่นเดียวกับเมื่อถูกสุนัขกัด เพราะค้างคาวอาจนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้
“ประชาชนไม่ควรบริโภคหรือชำแหละค้างคาว ไม่รับประทานผลไม้ที่มีรอยกัดแทะของค้างคาว และควรทัศนศึกษาดูค้างคาวด้วยความระมัดระวังและดูในฤดูกาลที่ถูกต้อง โดยงดชมในช่วงเช้าเนื่องจากค้างคาวจะถ่ายมาก ฤดูกาลที่ควรระมัดวังมากที่สุดคือ เมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังสุกรในพื้นที่เสี่ยงที่มีแหล่งอาศัยของค้างคาว และสวนผลไม้ที่ค้างคาวไปกินเป็นอาหารในฤดูกาลแพร่เชื้อมาก” ดร.สุภาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก