ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วงช่วงฤดูหนาว

ข่าวคำแนะนำที่ 6/2553
แนะวิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วงช่วงฤดูหนาว

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวและเป็นฤดูกาลของมะม่วงเริ่มออกช่อดอก ทำให้มักมีเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายช่อดอกมะม่วง โดยเพลี้ยจักจั่นมะม่วงเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวสีเทาแกมดำ ด้านหัวโต ส่วนลำตัวจนถึงปลายปีกเรียวแหลม มีไข่ 100-200 ฟอง การเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและช่อดอก แล้วขับถ่ายเป็นน้ำหวานจับบนใบหรือช่อดอก มีลักษณะเหนียวเยิ้ม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นโรคราดำที่ช่อดอก สำหรับในต้นที่มีเพลี้ยจักจั่นอยู่มากจะได้ยินเสียงเพลี้ยจักจั่นมะม่วงกระโดดดังกรอกแกรก ขณะเดินเข้าไปใกล้ทรงพุ่มมะม่วง การทำลายมักจะทำให้ช่อดอกและผลร่วงได้ ส่งผลให้มะม่วงติดผลน้อยหรืออาจไม่ติดผลเลยก็ได้
กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะวิธีป้องกันกำจัด โดยให้เกษตรกรใช้น้ำฉีดชะล้างช่อดอกและใบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดำจากเชื้อราได้ การฉีดน้ำแรงพอจะทำให้ตัวอ่อนของเพลี้ยกระเด็นออกมาจากช่อดอก แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงในขณะที่ติดผลอ่อน เพราะอาจทำให้ผลร่วงได้ นอกจากนี้ ให้ใช้กับดักไฟฟ้าเพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นที่ควรอนุรักษ์ไว้ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน Epipyropid แมลงวันตาโต Pipunculid สำหรับตัวห้ำ ได้แก่ มวนตาโต หรือใช้เชื้อราเมตาไรเซียม หรือเชื้อราขาวบิวเวอเรีย หากพบมากสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ คาร์บาริล เอนโดซัลแฟน โมโนโครโตฟอส และเบนโนมิล เป็นต้น
************************************
อัจฉรา : ข่าว
ธันวาคม 2552
E-mail : agritech71@doae.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก