ภาพจากwww.andamandiscoveries.com/

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“ทองกวาว” สีสันแห่งป่าเบญจพรรณ



“ทองกวาว” สีสันแห่งป่าเบญจพรรณ

หากไปชนบททางภาคเหนือ หรือภาคอีสานในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ก็จะเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ออกดอกที่มีสีสดทั้งต้น คือออกเป็นสีส้มออกไปทางสีแดง หรือ บางต้นหรือบางถิ่นต้นไม้ชนิดเดียวกันนี้ก็จะออกดอกเป็นสีเหลือง ต้นที่มีสีเหลืองพบที่เชียงราย อุบลราชธานี สุรินทร์ ไม้ชนิดนี้ชาว อีสานเรียก จาน ชาวเหนือเรียกว่า ก๋าว ซึ่งมันก็มาจาก ทองกวาว นั่นเอง และชาวสุรินทร์ก็นิยมเลี้ยงครั่งบนต้นทองกวาวนี่เอง
ทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 12-18 เมตร เปลือกต้นเป็นปุ่มปม กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา การแตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ดอกใหญ่รูปดอกถั่วสีเหลืองถึงแดงแสด ออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและที่ปลายกิ่ง ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกทองหลาง มีความยาว 6-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยเกาะเป็นกลุ่ม เวลาบานมี 5 กลีบ จะออกดอกดกที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ผลมีลักษณะเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน แบน โค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปลูกนั้นนิยมปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพราะทองกวาวเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร
ทองกวาวต้องการแสงแดดจัด ควรปลูกกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2:3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-5 ครั้ง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร
ประโยชน์มีกล่าวไว้ว่า เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือก ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น แต่จะลดจำนวนอสุจิ ยาง แก้ท้องร่วง ใบตำพอกฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด ท้องขึ้น ริดสีดวง เข้ายาบำรุงกำลัง ดอก ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ ดอกสีเหลืองให้สีเหลือง ดอกสีแสดให้สีแสด ใช้ย้อมผ้า เมล็ด ใช้ขับพยาธิตัวกลม บดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาวทาแก้คันและแสบร้อน ฝัก ต้มเอาน้ำเป็นยาขับพยาธิ บดผสมมะนาวทาบริเวณผื่นคัน ราก ต้มรักษาโรคประสาท บำรุงธาตุ
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก เพราะทองกวาวเป็นไม้มงคลนาม คือสามารถมีทองได้ตามธรรมชาติหรือมีทองมากนั่นเอง นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ฉะนั้น ทางคนจึงเรียกว่า ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ก็ว่ากันไป ...หากแต่บางคนไม่นิยมปลูกไว้บริเวณบ้าน เนื่องด้วยบางท้องถิ่นนิยมเรียกกันสั้นๆเฉพาะคำข้างหน้าเท่านั้น จากดอกทองกวาว จึงเป็นแค่ ดอกทอง...ไม่มีคำว่า กวาวต่อท้าย ความหมายจึงเปลี่ยนไป อันนี้ก็แล้วแต่คนจะคิดกันไป ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ...
ตามความเชื่อ เขาบอกว่า ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้จะเป็นมงคลยิ่ง ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อ ว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ และเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
ธงชัย เปาอินทร์ ระบุไว้ว่า กรณีทองกวาวสีเหลือง ถ้าเพาะกล้าจากเมล็ด จะได้ดอกสีแสดไม่เหมือนต้นแม่ ถ้าใช้การปั่นหรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะได้ต้นกล้าทองกวาวดอกเหลืองเหมือนต้นแม่
หมายเหตุ ข้อมูลจาก หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ ของ ธงชัย เปาอินทร์ , วีกิพีเดีย และ www.dnp.go.th/

จีร์ ศรชัย

ไม่มีความคิดเห็น:


คลังบทความของบล็อก